ชัดลึก & ชัดตื้น : มันคืออะไร?

 

ยังคงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่อีกมากในหมู่คนถ่ายภาพมือใหม่เกี่ยวกับ สองคำนี้ที่นำไปสับสนกับเรื่องของ “โฟกัส”  รวมทั้งคำว่า “ลึก” และ “ตื้น” ที่ต่อท้ายก็ยังถูกนำมาแปลว่าใกล้หรือไกลด้วย ลองทำความเข้าใจกับมันอีกสักทีจะเป็นไรไป?

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพก็คือ “การจับโฟกัส” หรือการวางตำแหน่งโฟกัสของภาพให้อยู่ในจุดคมชัดตามต้องการไม่ว่าจะอยู่ใกล้ เข้ามาหรือห่างออกไปจากตำแหน่งของกล้อง การปรับโฟกัสอาจจะทำด้วยระบบอัตโนมัติหรือการใช้มือหมุนปรับที่เลนส์โดยตรง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญตามมาก็คือ “พื้นที่ครอบคลุมตำแหน่งโฟกัส” ซึ่งเราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้มันคมชัดครอบคลุมกินพื้นที่ไปขนาดไหนด้วยการปรับขนาดของรูรับแสง

aperture5

ดังในภาพตัวอย่าง ภาพแรกจะเห็นได้ว่าที่ตำแหน่งเลขสี่นั้นคือจุดโฟกัสของภาพ เมื่อเลยจากระยะโฟกัสไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง วัตถุในภาพก็จะเบลอออกจากจุดโฟกัสไปเรื่อยๆ ในขณะที่ภาพที่สองนั้นเราจะเห็นว่าตั้งแต่เลขหนึ่งถึงเลขแปดนั้นอยู่ใน พื้นที่โฟกัสซึ่งมีความคมชัดครอบคลุมทั้งหมด

ภาพแรกนั้นคือภาพในลักษณะที่เรียกว่า “ชัดตื้น” ส่วนภาพที่สองคือภาพที่มีลักษณะเรียกว่า “ชัดลึก” ดังนั้นภาพชัดตื้นก็คือภาพที่มีพื้นที่ครอบคลุมจากจุดโฟกัสไม่มากนัก ในขณะที่ภาพชัดลึกก็คือภาพที่มีพื้นที่ครอบคลุมจากระยะโฟกัสกว้างไกลกว่า ไม่ว่าเราจะวางจุดโฟกัสเอาไว้ที่ใดก็ตามแต่

สรุปก็คือ “ภาพชัดตื้น” ไม่ได้หมายความว่าเป็นภาพที่จับโฟกัสในตำแหน่งใกล้กับกล้อง และ “ภาพชัดลึก” ก็ไม่ได้หมายความถึงภาพที่จับโฟกัสในจุดที่ไกลออกไปแต่อย่างใด

ทั้ง ภาพชัดลึกและชัดตื้นต่างก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกันออกไปตามลักษณะของ ภาพถ่ายที่ผู้ถ่ายภาพอยากจะให้เป็น เช่น เมื่อถ่ายภาพบุคคลหรือภาพวัตถุที่ต้องการความโดดเด่น ก็อาจจะใช้ภาพแบบชัดตื้นโดยจับโฟกัสไปที่วัตถุหลัก แล้วปล่อยให้ส่วนที่อยู่ห่างออกไปหลุดออกนอกโฟกัสไปเสีย ลดความรุงรังของสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในกรอบภาพซึ่งก็จะทำให้วัตถุที่อยู่ในโฟกัสดูโดดเด่นขึ้นมาทันที (ภาษาในวงการเรียกว่า “ละลายฉากหลัง”)

หรือถ้าถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ภาพวิวทิวทัศน์ หรือภาพที่เราต้องการอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างในกรอบภาพให้ชัดเจน เราก็อาจจะใช้ภาพแบบชัดลึก เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างในภาพอยู่ในระยะชัดให้หมด อย่างนี้เป็นต้น

การควบคุมพื้นที่ชัดลึกและชัดตื้นนี้ทำได้โดยการควบคุมขนาดรูรับแสงของ เลนส์ ยิ่งรูรับแสงกว้างมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเกิดภาพ “ชัดตื้น” มากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ยิ่งรูรับแสงแคบลงเท่าไหร่ก็จะยิ่งเกิดภาพ “ชัดลึก” มากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในการเกิดภาพชัดลึกชัดตื้นนี้ต้องดูที่ระยะจากกล้องถึงจุดโฟกัส, ทางยาวโฟกัสของเลนส์ด้วย ยิ่งระยะโฟกัสห่างออกไปมากเท่าไหร่ ระยะชัดตื้นก็จะยิ่งน้อยลงแม้ว่าจะใช้รูรับแสงเท่ากัน ยิ่งทางยาวโฟกัสของเลนส์มากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งชัดตื้นมากยิ่งขึ้นแม้ว่าจะ ใช้รูรับแสงเท่ากัน

ฝรั่งเรียกลักษณะแบบนี้ว่า “Depth of Field” หรือ DOF นั่นเอง

…มันเป็นเช่นนี้แล.

>> อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “รูรับแสง”

 

Comments

comments

You may also like...