“i” และ “p” ในคุณสมบัติของ VDO แบบ HD

 

จะสังเกตหรือไม่ก็ตาม ในสเปคบอกระดับความละเอียดวีดีโอของ DSLR นั้นจะมีตัวอักษรเล็กๆ อีกหนึ่งตัวห้อยติดมาด้วย นั่นก็คือ “i” และ “p” ซึ่งก็ไม่เฉพาะกับกล้อง DSLR เท่านั้น แต่อุปกรณ์ A/V ทั้งหลายในปัจจุบันต้องมีติดมาด้วยทั้งสิ้น
…มันคืออะไร?

COVER

หลังจากที่กล้อง DSLR ซึ่งมีคุณสมบัติในการบันทึกภาพวีดีโอตัวแรกจาก Nikon ได้เผยตัวออกมา พร้อมคำถามจากสังคมว่า DSLR จะถ่ายวีดีโอได้ไปเพื่ออะไร? คำตอบก็ดูเหมือนจะชัดเจนแล้วสำหรับในปัจจุบัน เมื่อภาพวีดีโอที่มีคุณภาพระดับสูงจาก DSLR นั้นได้แสดงศักยภาพออกมาในหลายๆ ด้าน ซึ่งทำให้ DSLR ทุกรุ่นที่จะออกสู่ท้องตลาดในปัจจุบันนี้ต้องมีคุณสมบัติในการบันทึกภาพวีดีโอติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด

…และแน่นอนว่าต้องเป็นระบบ “Full HD” ระดับความละเอียด 1080x1920px ด้วย

จะสังเกตหรือไม่ก็ตาม ในสเปคบอกระดับความละเอียดนั้นจะมีตัวอักษรเล็กๆ อีกหนึ่งตัวห้อยติดมาด้วย นั่นก็คือ “i” และ “p” ซึ่งก็ไม่เฉพาะกับกล้อง DSLR เท่านั้น แต่อุปกรณ์ A/V ทั้งหลายในปัจจุบันต้องมีติดมาด้วยทั้งสิ้น
…มันคืออะไร?

ท้าวความไปถึงเรื่องพื้นฐานของการแสดงภาพวีดีโอกันสักนิด ว่าภาพวีดีโอหรือภาพเคลื่อนไหวที่กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับชีวิตประจำวันของเรานั้น มันก็คือการเล่นภาพนิ่งหลายๆ ภาพต่อเนื่องกัน ซึ่งก็ขึ้นกับระบบของการเล่นภาพในแต่ละแบบว่าจะแสดงภาพจำนวนกี่ภาพต่อหนึ่งวินาทีเพื่อให้เห็นเป็นการเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง

โดยระบบปกติแล้วก็จะมีแบบ 24, 25 และ 30 ภาพต่อวินาที หรือ เฟรม/วินาที (Frame per second : FPS) ซึ่งความเร็วในการแสดงภาพต่อเนื่องในระดับนี้ สายตาของเราจะมองไม่เห็นภาพทีละภาพ แต่จะมองเห็นเป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องกันไปเลย

ทั้งอุปกรณ์การบันทึกและอุปกรณ์แสดงภาพต่างก็อยู่ในวิธีการเดียวกันนี้ กล้องวีดีโอก็จะบันทึกมาด้วยความเร็ว 30 ภาพต่อวินาที ในขณะที่ทีวีก็จะแสดงภาพในอัตราความเร็ว 30 ภาพต่อวินาทีเช่นกัน…นี่คือตัวอย่างของระบบ NTSC หรือในระบ DVD ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง

แต่ถ้าเป็นระบบโทรทัศน์ที่ออกอากาศในบ้านเรานั้น จะเป็นระบบ “PAL” ซึ่งแสดงภาพเคลื่อนไหวที่อัตรา 25 ภาพต่อวินาที ส่วนระบบฟิล์มภาพยนตร์นั้นจะใช้อัตรา 24 ภาพต่อวินาที

ในการเล่นภาพต่อเนื่องนั้น อุปกรณ์จะมีขั้นตอนหนึ่งที่เรียกว่า “Scan” คือการกวาดสร้างสัญญาณภาพขึ้นบนอุปกรณ์โดยใช้ระบบ “เส้น”  คือการสร้างภาพจากเส้นในแนวนอนเรียงลงมาจากด้านบน ซึ่งความเร็วในการ Scan นี้จะเร็วมากเสียจนสายตาของเราจับไม่ทัน จึงมองไม่เห็นขั้นตอนการเรียงตัวเป็นเส้นของอุปกรณ์เหล่านี้

แต่กล้องถ่ายภาพมีความเร็วในการหยุดภาพมากกว่าสายตาของเรา ดังนั้นเมื่อเราถ่ายภาพจอทีวีที่กำลังแสดงภาพอยู่ จึงปรากฏขั้นตอนการกวาดภาพหรือการสร้างเส้นของจอทีวีให้เห็น (ที่เห็นเป็นภาพไม่เต็มจอเพราะอยู่ในระหว่างการ Scan เส้นลงมาจากด้านบนนั่นเอง)

เส้นเหล่านี้บอกความละเอียดของความคมชัดในภาพแต่ละระบบด้วย ยกตัวอย่างเช่นความละเอียด 1080x1920px ก็จะมีจำนวนเส้นในแนวนอนเท่ากับ 1080 เส้น

อย่างที่บอกไปแล้วว่าภาพวีดีโอคือการแสดงภาพนิ่งหลายภาพต่อเนื่องกัน และการแสดงภาพบนอุปกรณ์นั้นก็จะมีขั้นตอนการ “Scan” เพื่อสร้างภาพขึ้นมาโดยการเรียงเป็นเส้นแนวนอนจากบนลงล่าง ซึ่งขั้นตอนการ “Scan” นี่เองคือตำแหน่งของ “i” และ “p” ที่อยู่ในความสงสัยของเรา

“i” หมายถึง Interlaced ในขณะที่ “p” หมายถึง Progressive พูดโดยคร่าวๆ แปลว่า มันคือระบบการ Scan หรือสร้างภาพที่แตกต่างกันนั่นเอง

• Interlaced Scan

ระบบการสแกนภาพแบบดั้งเดิมที่จะสร้างภาพต่อเนื่องแบบสลับเส้น โดยจะแบ่งเป็นเส้นคู่และเส้นคี่ เส้นคู่จะเป็นเฟรมแรกส่วนเส้นคี่จะเป็นเฟรมถัดไป การสร้างภาพก็คือสร้างจากเส้นที่ 1,3,5…จนถึงด้านล่าง แล้วก็กลับขึ้นมาสร้างเฟรมถัดไปที่ 2,4,6… ซึ่งเป็นเทคนิคที่ดูคล้ายกับการซ้อนภาพแต่ละเฟรมอย่างรวดเร็วเพื่อความต่อเนื่องในการแสดงภาพเคลื่อนไหวนั่นเอง

ระบบการสแกนภาพแบบ Interlaced นี้เป็นระบบที่ใช้กันมานานมากตั้งแต่ระบบ Analog  แม้กระทั่งในปัจจุบันอเมริกาจะมีการแพร่ภาพสัญญาณทีวีในแบบ High Definition (HD) แต่ก็ยังใช้ระบบสแกนภาพแบบ Interlaced นี้อยู่

รวมไปถึงจอคอมพิวเตอร์แบบ “จอหลอด” หรือที่ใช้หลอดภาพ (ไม่ใช่แบบ LCD หรือ LED ในปัจจุบัน) ก็ใช้ระบบ Interlaced ในการสร้างภาพแช่นกัน

• Progressive Scan

สำหรับผู้ทีเกิดมาในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นจอภาพแบบเดิมอยู่นั้น คงจะจำกันได้ว่าการแสดงผลของมันนั้นไม่เหมาะกับการดูในระยะใกล้เลย โดยเฉพาะกับงานตัวอักษร ยิ่งเมื่อต้องนั่งทำงานนานๆ นั้นจะก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้าสายตาได้ง่าย และที่หนักหน่อยก็คือทำให้สายตาสั้นได้

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะระบบการสแกนหรือ “กวาด” สร้างภาพแบบ Interlaced ที่ถึงแม้ว่าสายตาจะจับการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน แต่มันก็มีการกระพริบถี่ๆ ด้วยความเร็วสูงที่ระบบประสาทตาสามารถรู้สึกได้ และส่งผลเสียต่อระบบการมองเห็นได้อยู่ดี
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการคิดค้นระบบที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ให้หมดไป ซึ่งก็เป็นที่มาของ Progressive Scan นั่นเอง

Progressive จะสแกนภาพโดยการสร้างเรียงเส้นจากบนลงล่างให้จบทีละภาพคือ 1,2,3…จนถึงด้านล่างแล้วจึงสร้างภาพถัดไป

ScanGraph

• Interlaced vs. Progressive

เนื่องจาก Interlaced เป็นระบบดั้งเดิมตั้งแต่ยุค Analog แต่ Progressive นั้นเกิดมาในยุค Digital ดังนั้นความสามารถในการแสดงภาพจึงค่อนข้างแตกต่างกัน

เพราะ Progressive จะแสดงภาพให้จบแต่ละภาพในครั้งเดียว ดังนั้นภาพที่ได้จึงมีความคมชัดและแสดงรายละเอียดได้ดีกว่า และไม่มีปัญหาการกระพริบของภาพ และจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อมีการหยุดภาพในระหว่างการเล่นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งระบบ Progressive จะหยุดได้นิ่งสนิท แต่ Interlaced จะเกิดการกระพริบขึ้น

ปัญหาสำคัญของ Interlaced ก็คือลักษณะของอาการแสดงภาพแตกเป็นเส้นๆ ในวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว นั่นก็เพราะ Interlaced ต้องซ้อนภาพระหว่างเฟรมลงในเส้นคู่/คี่ จึงเห็นปัญหานี้ได้บ่อยครั้ง แต่ Progressive แสดงภาพแต่ละภาพให้เสร็จในครั้งเดียว ปัญหานี้จึงไม่มีให้เห็น

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า Progressive สามารถแสดงภาพได้ดีกว่า Interlaced มาก แต่มันก็ต้องใช้ระบบการประมวลผลและความเร็วของอุปกรณ์ในระดับสูงกว่าเช่นกัน แม้กระทั่งหากจะออกอากาศสัญญาณโทรทัศน์แบบ Progressive นั้นก็ต้องใช้ระดับความกว้างหรือ Bandwidth ที่สูงกว่าเช่นเดียวกันด้วย

…จะว่าไปแล้วก็คล้ายกับโทรศัพท์ 2G, 3G และ 4G ยังไงยังงั้นเลย

ปัญหาการแตกเป็นเส้นของภาพเคลื่อนไหวในภาพแบบ Interlaced อันเนื่องมาจากการซ้อนกันของแต่ละเฟรมในเส้นคู่และเส้นคี่ของขั้นตอนการสแกนภาพ ซึ่งในบางกรณีนั้นเห็นชัดเจนและรบกวนการรับชมเป็นอย่างมาก

• แก้ปัญหาภาพแตกเป็นเส้น

ปัญหาภาพแตกเป็นเส้นของ Interlaced ดูจะเป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถแก้ไขได้โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อวีดีโอ ให้ลองมองหาคำสั่งที่เกี่ยวกับ “De-Interlaced”, “None Interlaced” หรืออะไรทำนองนี้ มันก็จะช่วยทำให้ภาพที่ได้ออกมาเป็นลักษณะเหมือนกับภาพแบบ Progressive
Software

อย่างไรก็ตาม สำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ตามบ้านในปัจจุบันนี้ก็ดูเหมือนว่าจะพร้อมรองรับระบบการสแกนภาพแบบ Progressive กันหมดแล้ว HDTV รุ่นใหม่ๆ ในท้องตลาดต่างก็รองรับระบบนี้กันทั่วหน้าเพื่อการแสดงภาพที่ดีกว่า เนื่องจากเครื่องเล่นและระบบของ DVD ไปจนถึง Blu-ray นั้นต่างก็เป็นแบบ Progressive นั่นเอง หาก HDTV ของค่ายไหนยังไม่รองรับ Progressive ก็มีหวังจะขายไม่ดี

แต่ในบางกรณี ระบบภาพของ Interlaced ก็เล่นภาพเคลื่อนไหวได้นุ่มนวลกว่าแบบ Progressive ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะการเคลื่อนไหวของวัตถุด้วย เช่นถ้าเป็นการเคลื่อนไหวแบบรวดเร็ว-รุนแรงอย่างเช่นกีฬา ระบบ Progressive ก็อาจจะให้ภาพที่ดีกว่า แต่ถ้าเป็นการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า ไม่มีความเร็วมากนัก Interlaced ก็อาจจะแสดงภาพต่อเนื่องได้นุ่มนวลกว่า เป็นต้น

ก็เป็นอันรู้กันละว่า “i” และ “p” ที่ต่อท้ายความละเอียดของภาพวีดีโอในสเปคของ DSLR แต่ละรุ่นนั้นมีที่มาที่ไปและหมายความว่าอย่างไร คำถามนี้ก็เป็นอันสิ้นสุดและใช้ประกอบการตัดสินใจได้แล้ว ที่เหลือก็อยู่ที่ว่าคุณจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน? ซึ่งถ้ามันไม่จำเป็นก็อาจจะไม่ต้องเอามาใส่ใจเลยก็ยังได้

…“i” และ “p” มีผลต่อเรื่องของวีดีโอ แต่ไม่มีผลต่อการถ่ายภาพนิ่งซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ DSLR แต่อย่างใด.

 

มีท่านสมาชิก NXT ได้กรุณาเพิ่มเติมข้อมูลอันน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงขอนำมาลงเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น :

“แถมให้นิดนึงครับ กล้องหลายๆ ตัวบอกว่าถ่าย Full HD ที่ 60i แต่เวลาตัดต่อคนชอบจะติ๊ก Deinterlace เพื่อลบภาพซ้อนฟันหวีออกตามที่แนะนำ เพื่อให้มันดูไม่เป็นภาพซ้อนในคอมพิวเตอร์ แต่นั่นเป็นการลดคุณภาพของภาพต่อเนื่องลงให้เหลือเพียง 30p ถึงแม้โปรเจ็คเราจะเปิดเป็น 60i ก็เถอะ เพราะการสั่ง Deinterlace จะเป็นการลบสนามภาพ (หรือ Field คู่ / Field คี่) ออกไปจากเฟรม ทำให้เหลือเพียงแค่สนามภาพเดียว หรือกลายเป็นภาพ Progressive ดังนั้นเวลาตัดต่อ render ออกมาจะกลายเป็นวีดีโอ 30p ถึงแม้จะตั้งโปรไฟล์เป็น 60i ความต่อเนื่องภาพจาก 60 เฟรมแบบ interlace ก็จะเหลือแค่ 30 ภาพ เพราะการสแกนกราดวาด 2 ครั้งใน 1 เฟรมของระบบ interlace จะกลายเป็นการแสดงภาพเดียวกัน 2 ครั้งแทน

ดังนั้นการใช้คำสั่ง Deinterlace จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และควรรู้ว่าวีดีโอปลายทางจะเอาไปใช้กับสื่ออะไร ถ้าออก Youtube ดูบนคอมพ์ ตั้งเป็น Progressive 30p แล้ว Deinterlace จาก 60i เหลือ 30p ก็สมควรอยู่ แต่ถ้าจะเอาไปเขียนเป็น Blue Ray เพื่อดูทางจอ TV แบบ HD ไม่ควร Deinterlace เพราะจะเสียคุณภาพความต่อเนื่องของภาพไป”

เครดิต : Thanin Wong-asa

เป็นเกร็ดความรู้ที่ควรสำหรับการอแก้ไขปัญหาดังที่ว่า ดังนั้นควรพิจารณาดูดีๆ ว่าจำเป็นจะต้อง De-Interace กันหรือไม่?

 

 

Comments

comments

You may also like...