XT REVIEW : BenQ SW270C จอคอมแต่งภาพสีตรง ขวัญใจคนถ่ายภาพ

 

BenQ “SW270C – “Photographer Monitor” …ถ้าคุณปรารถนาคุณภาพของภาพถ่ายในท้ายที่สุดละก็ “จอภาพ” คืออีกหนึ่งความสำคัญไม่แพ้กล้อง เลนส์ และการเดินทางไปไกลของคุณเลยทีเดียว

Main

นี่ผมไม่ได้จะมาขายของอย่างเดียวหรอกนะครับ แต่อยากให้คุณได้ทำความเข้าใจต่อเรื่องนี้สักหน่อย เพราะนักถ่ายภาพจำนวนไม่น้อยที่ผมรู้จักมักจะพลาดเรื่องนี้ จนกระทั่งได้รู้ได้เข้าใจและแก้ไขมันให้ถูกต้อง ผมก็เห็นเลยว่าภาพถ่ายของเค้ามีระดับคุณภาพที่เปลี่ยนไป…เพราะเดิมทีไฟล์ภาพถ่ายต้นฉบับน่ะดีอยู่แล้ว เพียงแค่ปรับแต่งมันไปแบบผิดทางเพราะใช้จอภาพที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง

• จอภาพสำคัญยังไง?

“แสงดี สีเด่น เน้นองค์ประกอบ ตอบด้วยเรื่องราว”…มันคือคติประจำใจที่ตัวผมเองใช้ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ ซึ่งคุณจะนำไปใช้ด้วยก็ไม่ผิดกติกาอันใด

ผมเที่ยวได้แนะนำใครต่อใครอยู่เสมอครับว่าให้ถ่ายภาพมาให้ดีเสียก่อน เอากล้องนำหน้า อย่าได้เอาคอมพิวเตอร์นำหน้าเวลาที่จะถ่ายภาพ อย่าคิดประมาณว่าถ่ายๆ ไปเถอะเดี๋ยวค่อยไปปรับเอาทีหลัง

ถ้าถ่ายภาพมาได้ดีแล้วละก็การปรับแต่งภาพจะจะยิ่งช่วยให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้นได้อีก (หากปรับแต่งแล้วมันออกมาดีน่ะนะ) ผมเชื่อว่าคุณคงได้เคยเห็นฤทธิ์การแต่งหน้าเสื้อผ้าหน้าผมของสาวๆ ยุคนี้แล้ว ซึ่งเราจะเห็นกันว่ามันยิ่งส่งผลให้ดูดีได้ขนาดไหน แต่ถ้าแต่งหน้าไม่ถูกทางมันก็เป็นอะไรที่ไม่ถูกใจและส่งผลร้ายได้ด้วย ซึ่งการแต่งภาพถ่ายก็เหมือนกันนั่นละครับ

ครั้นเมื่อได้ไฟล์ภาพมาแล้วผมก็จะแนะนำว่าให้เปิดมันขึ้นมาดูด้วยคอมพิวเตอร์ จากนั้นวางเม้าส์วางปากกาลงแล้วนั่งดูมันอย่างพิจารณา อะไรคือข้อด้อย อะไรคือข้อเด่น? ตรงไหนเป็นข้อด้อยก็เสริมแต่งฟื้นชีวิตมันกลับขึ้นมา ข้อเด่นก็พยายามรักษาไว้อย่าให้หายไป เช่น สีสันดูเรียบร้อยไปไหม เราเพิ่มได้ไหม ภาพมืดไปสว่างไป บางส่วนมืดบางส่วนสว่าง ฯลฯ อะไรแบบนี้เป็นต้น

เมื่อเห็นภาพแล้วคุณจะนึกถึงกล้องและเลนส์ของคุณครับว่ามันดีหรือมันแย่ แต่คุณมักจะลืมไปว่าตัวการที่แท้จริงในขั้นตอนนี้คือสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั่นต่างหากล่ะ

…จอภาพ

มันคือตัวแสดงผลของภาพขึ้นมาให้คุณได้ดู มันอาจจะมีขนาดใหญ่ คมชัดสูง ราคาแพงจัดจ้านในย่านนี้…แต่ความสำคัญของตอนนี้ก็คือ มันแสดงผลภาพถ่ายออกมาได้ตรงไหม?

ผมจะแนะนำว่าเมื่อคุณพิจารณาให้เห็นข้อดีข้อด้อยของภาพเสียก่อนแล้วจึงค่อยลงมือปรับแต่งภาพ ก็นั่นแหละครับ คุณได้เห็นสิ่งที่ตรงต่อความเป็นจริงของไฟล์ภาพหรือเปล่า เพราะจอภาพคือสิ่งที่จะแปลข้อมูลทางดิจิทัลแล้วส่งออกมาเป็นสีสันต่างๆ ให้คุณได้ดู

2 สมมุติว่าจอภาพที่คุณใช้นั้นสร้างมาเพื่อการบันเทิง ดูหนังฟังเพลงเล่นเกมส์ (BenQ เค้าก็มีจอภาพในรุ่นแบบนั้นด้วยนะ) มันก็จะถูกออกแบบมาให้เน้นแสดงสีสันที่น่าตื่นตา มีความคมชัดชวนตะลึง ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะวัตถุประสงค์ของมันคืออย่างนั้น ไฟล์ภาพที่คุณเปิดขึ้นมาก็จะเห็นว่ามันมีสีสันสดใสไม่จำเป็นต้องตกแต่งใดๆ อีกแล้ว แต่เมื่อคุณนำไฟล์ไปใช้ก็ปรากฏว่ามันกลายเป็นภาพถ่ายที่ดูจืดๆ คุณงงว่าทำไมโพสต์ลงโซเชียลแล้วถึงไม่สดใสเหมือนกับที่เห็นบนจอภาพของคุณ …ก็เพราะว่ามันเป็นจอที่เน้นเร่งสีในตัวมันเอง ไม่ได้ไปเร่งที่ข้อมูลไฟล์ภาพ

สมมุติอีกทีว่าคุณใช้จอภาพปกติธรรมดาทั่วไปในราคาย่อมเยา เห็นภาพได้เหมือนกัน ทำโปรแกรมอื่นๆ ก็ลื่นไหลสะดวกดี เมื่อเปิดภาพขึ้นมาแล้วคุณพบว่าภาพมีสีสันอมฟ้าไปหน่อย ก็เลยแก้ไขโดยการผลักค่า White Balance ออกไปทางโทนสีเหลืองเพื่อแก้ทางกัน โอเคเรียบร้อย …ปรากฏว่าโพสต์ไปแล้วภาพถ่ายของเรากลับดูคล้ายมะม่วงแช่อิ่มที่เหลืองหนักหนาสาหัสสากรรจ์ นั่นก็เพราะจอภาพของคุณมันแสดงภาพหนักไปทางสีฟ้าเพื่อความสบายตา

3

 

• ภาพถ่ายต้นฉบับดูเป็นปกติ แต่คุณอยากจะเร่งให้มันดูดียิ่งกว่าเดิม หากเปิดขึ้นมาที่จอภาพ A ซึ่งออกแบบมาเพื่องานบันเทิง ระบบของจอภาพก็จะเร่งสีสันและความคมชัดขึ้นมา คุณเห็นว่าดูดีแล้วก็เลยไม่ได้ทำอะไร ผลปรากฏออกมาก็คือภาพของคุณยังคงดูเหมือนเดิมเพราะมันไม่ได้ทำอะไรเลย ข้อมูลของไฟล์ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่จอภาพ B มีอาการสีเพี้ยนไปทางสีฟ้า คุณเห็นอย่างนั้นก็เลยปรับแก้ให้ภาพไปทางสีเหลือง ผลก็คือไฟล์ภาพสุดท้ายของคุณถูกเพิ่มโทนสีเหลืองเข้าไปมากเกินจำเป็น เพราะความเข้าใจผิดที่คุณเห็นจากจอภาพนั่นเอง

 

 

กรณีที่ดูจะแย่หน่อยก็คือ เปิดขึ้นมาแล้วภาพดูจืดๆ (เพราะจอภาพมันจืดๆ จะโดยสเปคหรือโดยอายุการใช้งานก็ตามแต่) คุณก็เลยเร่งสีเข้าไปอย่างมันมือจนเห็นว่ามันโอเค แต่ข้อมูลจริงในไฟล์ภาพนั้นสีสันตระการตาเกินคำบรรยายไปเยอะ โพสต์ขึ้นไปแล้วก็แทบจะได้ยินเสียงระนาดแว่วประกอบมาแต่ไกล

กรณีอย่างนี้จำเลยก็คือ “จอภาพ” ที่แสดงสีสันและรายละเอียดไม่ตรงกับข้อมูลในไฟล์ภาพครับ มันก็เลยพาคุณหลงทางไปด้วยกันและไปได้ไกล ถ้าใช้ดูคนเดียวก็ไม่กระไรนัก แต่ถ้าออกสู่สาธารณะละก็ ขอบอกว่าไกลสุดกู่ ไกลเกินจะอยากตามไปดูเลยทีเดียว

และถ้ายิ่งทำงานในระบบสิ่งพิมพ์ละก็ ขอบอกว่าปวดหัวเลยเชียวแหละ เพราะเรื่องของสีสันจะยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก

ดังนั้นจอภาพที่แสดงสีสันได้แม่นยำเที่ยงตรง ไม่แสดงผลให้คุณวิเคราะห์และปรับแต่งภาพผิดๆ จึงได้สำคัญสำหรับการปรับแต่งภาพถ่ายยังไงล่ะ

ไฟล์ภาพถ่ายโดยส่วนใหญ่ของผมจะต้องนำมาตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้มันดูดีเข้าไปอีก บางครั้งก็อาจจะไม่มีการตกแต่งใดๆ แต่อย่างน้อยก็ต้องเปิดขึ้นมาตรวจสอบคุณภาพเสียก่อนที่จะตัดสินใจปล่อยออกสู่โลกภายนอก มันคงไม่สนุกสักเท่าไหร่หรอกครับหากไฟล์ภาพคุณภาพแย่ของคุณเผยแพร่ออกไปแล้วโดยไม่ทันได้ตรวจสอบให้ดี เพราะมันยากที่จะเรียกกลับคืนมาแก้ไขใดๆ ได้

…ถ้านั่นเป็นงานจ้างลูกค้าก็หนี ถ้าเป็นงานชื่อเสียงมันก็จะกลายเป็นด้านลบไป

คุณภาพของไฟล์ภาพจึงเป็นเรื่องปิดท้ายซึ่งกลายเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะใช้กล้องและเลนส์ระดับมหาเทพลงมาจุติ เดินทางไปหลายหมื่นลี้เพื่อตัวแบบและสถานที่อันอลังสายตา แต่สุดท้ายจบไม่สวยด้วยไฟล์ภาพที่ไม่ช่วยอะไร ก็ตกม้าตายตอนจบอยู่ดี

ด้วยเห็นความสำคัญอย่างนั้นแล้ว สิ่งที่จะแสดงภาพขึ้นมาให้ผมดูเพื่อตัดสินใจในท้ายที่สุดจึงสำคัญมาก จะอะไรล่ะครับถ้าไม่ใช่ “จอภาพ”

จอภาพคุณภาพดีนั้นหลายคนมักจะมองข้าม โยกงบประมาณไปที่ RAM เยอะๆ CPU แรงๆ ฮาร์ดดิสก์เร็วๆ จอภาพเอาปานกลางก็ได้ ขอให้มันใหญ่และคมชัดให้เห็นภาพก็พอ

วิธีคิดประมาณนี้จะคล้ายกับที่เราซื้อกล้องและเลนส์คุณภาพแจ๋วๆ แต่ซื้อฟิลเตอร์ราคาประหยัดคุณภาพปานกลางมาขวางหน้าเลนส์เอาไว้นั่นแหละครับ คุณภาพของแสงก็โดนหักล้างออกไปก่อนที่จะสัมผัสผิวเลนส์ชิ้นแรกด้วยซ้ำ

…จอภาพดีๆ จำเป็นด้วยหรือ? เราไม่ใช่มืออาชีพสักหน่อยนี่นะ

ถ้าแค่คุณต้องการให้งานออกมาดีในท้ายที่สุดละก็ ลืมคำว่ามืออาชีพมือสมัครเล่นไปได้เลยครับ (ลองหันไปมองเลนส์ตัวล่าสุดที่คุณเพิ่งซื้อมาใช้ก็ได้ ผมว่ามันก็ไม่น่าจะธรรมดานะ)

• จอคอมแต่งภาพสีตรง

ในอดีต จอภาพที่แสดงผลได้แม่นยำและจริงจังกับงานลักษณะนี้จะราคาแพงมหาศาลมากครับ เราจึงต้องหาสารพัดวิธีเพื่ออยู่ร่วมกับจอภาพทั่วไปให้ได้ ซึ่งมันก็จะทั้งเสี่ยงและหมดเปลืองเวลาไปกับการปรับแต่งแก้ไขตรวจสอบ แก้แล้วแก้อีกอยู่นั่นเพราะสีสันในท้ายที่สุดก็ยังไม่ตรงเสียที ตรงนั้นได้ตรงนี้เพี้ยน บนจอดูโอเคแต่พอปริ้นท์ออกมาแล้วคนละเรื่องเลยก็มี

จนกระทั่ง BenQ เค้าส่งจอภาพรุ่นนึงออกมาสู่วงการโดยนิยามตัวเองว่าเป็น “Photographer Monitor” นอกจากความละเอียดคมชัดแล้วก็ยังเน้นเรื่องของการแสดงผลสีสันที่แม่นยำ สะท้อนลักษณะความเป็นจริงตามข้อมูลของไฟล์ภาพ ตอนนั้นโลกฮือฮากับจอภาพ BenQ รุ่น SW2700PT ที่ว่านี้ด้วยเพราะแสดงสีได้ดีมากในขณะที่ราคาเพิ่มจากจอภาพปกติขึ้นไปอีกนิดหน่อยเท่านั้น เรียกได้ว่าจ่ายเพิ่มแต่โคตรจะคุ้ม กวาดรางวัลในวงการไปเพียบ

หลังจากนั้นก็มีจอภาพในนิยามเดียวกันนี้ตามออกมาอีกหลายรุ่นให้เลือกใช้ ซึ่งก็พัฒนามาถึงรุ่น SW270C ที่เรากำลังจะพูดถึงกันนี้

4

Photographer Monitor ก็ย่อมจะต้องเน้นเรื่องความแม่นยำในการแสดงสีสันเป็นหลัก ถ้าไฟล์คุณจืดก็จะแสดงผลจืดๆ มาให้ดู ถ้าไฟล์คุณสดก็แสดงสดๆ มาให้ดู เพื่อให้ตัดสินใจได้ว่าจะเอายังไงไปทางไหน ซึ่งทุกรุ่นของ BenQ ก็จะมีค่า “Delta E” กำกับมาโชว์เก๋าเลยว่าอยู่ในระดับต่ำมากตั้งแต่ออกจากโรงงานเลยทีเดียว

• Delta E?

เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่ายิ่งน้อยยิ่งดี ว่าแต่ว่ามันคืออะไรล่ะ

ΔE – (Delta E, dE) คือหน่วยวัดความแตกต่างของสีสันที่มองเห็นได้ด้วยสายตา คำว่า delta นั้นหมายถึงค่าตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงได้ ส่วนอักษร E นั้นย่อมาจากคำว่า Empfindung ในภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่า sensation อันแปลเป็นไทยอีกทีว่า “ประสาทสัมผัส” หรืออะไรทำนองนั้น

มันคือหน่วยมาตรฐานที่ประกาศโดยองค์กร “International Commission on Illumination” หรือที่คุ้นตากันในชื่อย่อ “CIE” ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1900 ซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานสำหรับเรื่องราวของสีสันในหลากหลายแวดวง โดยที่ Delta E นี้ถูกประกาศใช้เป็นครั้งรแกในปี ค.ศ.1976

…เห็นไหมล่ะครับว่าเรื่องของสีสันนี่สำคัญถึงกับเป็นวาระแห่งโลกมนุษย์เลยเชียวนะ

Delta E ใช้ระดับคะแนนเพื่อชี้วัดความแม่นยำตั้งแต่ 0 ถึง 100 ครับ :

- น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 หมายถึง แยกแยะความแตกต่างไม่ได้ในระดับการมองเห็นของสายตามนุษย์

- 1-2 แปลว่า ต้องสังเกตอย่างใกล้ชิดและพิถีพิถันจึงจะเห็นความแตกต่างได้ ประมาณว่าต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ

- 2-10 แปลว่า แค่ชำเลืองมองก็เห็นความแตกต่างได้ละ

- 11-49 แปลว่า เห็นๆ เลยว่าแตกต่าง หยิบไม่ผิดแน่นอน

- 100 แปลว่า เด็กเล็กๆ ก็ยังบอกได้ว่าไม่เหมือนกันแน่ๆ

มาตรวัดอันนี้ใช่ว่าจะเฉพาะสำหรับภาพถ่ายนะครับ เค้าใช้กันทั่วไปในหลากหลายแวดวง อย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหาร, สิ่งทอ ฯลฯ ก็ใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ด้วย

 

• BenQ Photographer Monitor

เอาจริงๆ นะ จอ BenQ ที่บอกว่าตัวเองเป็น Photographer Monitor ทุกรุ่นเนี่ยเค้าบอกเลยว่ามีค่า Delta E อยู่แถวๆ “2″ ออกมาจากโรงงาน บร๊ะ! ก็เพราะแบบนี้นี่แหละเค้าถึงได้โจษขานกันว่ายกออกจากกล่องก็ใช้งานได้เลย ไม่ต้องคาลิเบรทด้วยซ้ำ

แต่ถึงกระนั้นถ้าคาลิเบรทซ้ำอีกได้ก็จะยิ่งดี เพราะมันยังมีปัจจัยอื่นอย่างเช่น แสงสว่างในสภาพแวดล้อมการทำงานของเราที่ไม่เหมือนกันอีก ผมคิดว่ามันมีผลน้อยมากสำหรับจอในระดับนี้ แต่เราก็อยากจะรู้เหมือนกันนะว่าเราซื้อมาแล้วมันจะทำผลงานออกมาได้ดีขนาดไหน? หลายท่านก็เลยคาลิเบรทซ้ำเข้าไปแล้วก็ได้ค่า Delta E ของจอตัวเองออกมาในระดับที่ต่ำกว่า 1 ซะอีก แม่จ้าว!

เท่านั้นยังไม่พอ BenQ ยังพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับทำการคาลิเบรทจอของตัวเองโดยเฉพาะออกมาด้วยในชื่อว่า “Palette Master Element” มีทั้งสำหรับ Mac OS และ Windows ให้ดาวน์โหลดได้ฟรี

เดี๋ยวจะหาว่าโม้ BenQ เค้าก็เลยให้ใบรายงานผลการคาลิเบรทมาในกล่องด้วยเลยว่ามันพร้อมใช้งานได้ทันทีเลยนะ และนี่ไม่ใช่การเหมายกรุ่น เพราะเค้ามี Serial number ของจอแต่ละตัวกำกับมาในเอกสารเลยทีเดียว

56

จำง่ายๆ ครับ ค่า Delta E นี่เหมือนกับค่ากรดยูริกที่ทิ่มแทงคนเป็นเก๊าต์นั่นแหละ ยิ่งน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งดีนั่นเอง แต่เชื่อเถอะครับว่าที่ระดับ 1-2 นี่ก็พอต่อการใช้งานเป็นอย่างยิ่งแล้วล่ะ

 

• Adobe RGB

SW270C มีความสามารถในการแสดงผลสีในระบบ Adobe RGB ได้ถึง 99%

หลายท่านพยักหน้าหงึกๆ แต่ในใจก็ไม่รู้อยู่ดีว่ามันสำคัญยังไง…เอาจริงๆ ก็สงสัยมาตั้งแต่ในกล้องนู่นละ จะเลือกอันไหนดีหว่า? ได้ยินมาว่า Adobe RGB ดีกว่าก็เลือกกันไปเลย

รถซูเปอร์คาร์ที่หลายคน (รวมทั้งผม) ได้แต่ฝันถึงนั้นเร่งความเร็วจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลาแค่ 3-4 วินาที ในขณะที่รถบ้านของเราต้องใช้เป็นสิบกว่าวิถึงจะได้ เร่งแซงทีนึงก็ลุ้นกันตัวโก่ง แต่ขอโทษที ถ้าเจอถนนสุขุมวิทในชั่วโมงเร่งด่วนก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน ดังนั้นเค้าจะเจ๋งกว่าก็ต้องมีที่ทางที่เหมาะกับเค้าด้วย

ถูกต้องแล้วครับ Adobe RGB มันเก่งกว่า sRGB แต่นั่นหมายความว่าทั้งระบบของคุณตั้งแต่ถ่ายภาพไปจนถึง output ออกมาเป็นชิ้นงานก็ต้องรองรับ Adobe RGB ตลอดเส้นทางด้วยถึงจะแจ๋ว

Adobe RGB ดีกว่ายังไง? ก็เพราะมีระดับของสีสันให้ใช้งานเยอะกว่า ละเอียดกว่า ภาพถ่ายก็เลยปิ๊งกว่า ดูสิครับว่ามีระดับสีเขียวให้ใช้มากกว่าตั้งเยอะแน่ะ แบบนี้ภาพ landscape ภูเขาต้นไม้ไร่นาของคุณจะดูเป็นยังไงกันล่ะ?

4

ในที่นี้ก็ยกตัวอย่างว่าภาพถ่ายของคุณจะนำไปพิมพ์ที่เครื่องพิมพ์ซึ่งรองรับระบบ Adobe RGB มันก็ย่อมมีแนวโน้มที่ผลงานจะออกมาดียิ่งกว่า sRGB แต่ถ้าคุณต้องมีการปรับแต่งภาพก่อนละก็มันจะแป้กทันทีถ้าจอภาพของคุณไม่รองรับระบบนี้ พูดง่ายๆ ก็คือคุณจะเห็นสีสันได้ไม่ครบ เพราะจอภาพระบบ sRGB ก็จะไม่สามารถแสดงสีบางสีที่มีใน Adobe RGB ออกมาได้ คุณก็จะไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นทั้งหมดว่าที่ปรับๆ แต่งๆ อยู่นั่นน่ะมันไปทางไหนแล้วกันแน่?

แต่ถ้าจอภาพของคุณรองรับระบบนี้และแสดงสีสันออกมาได้ คุณก็จะแม่นยำมากกว่านั่นเอง

อ้าว ไม่ได้ใช้ขนาดนั้นก็ไม่จำเป็นมั้ง? ก็ถูกครับ อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่ไม่นอน วันนี้อาจจะยังไม่…แต่วันหน้านั้นไม่รู้ได้ ถ้าไฟล์ภาพของคุณเป็น Adobe RGB มาตั้งแต่แรกก็แปลงกลับมาเป็น sRGB ได้ ข้อมูลสีที่ล้นออกไปก็จะถูกแทนที่ด้วยสีที่ sRGB มี ซึ่งมันก็พอจะใช้ได้ แต่ถ้าเป็น sRGB แล้วแปลงไปเป็น Adobe RGB ถึงจะทำแบบนั้นได้แต่สีที่ล้นขอบเขตออกไปก็ไม่เคยมีอยู่ในภาพมาก่อน มันก็เลยเป็นแค่ sRGB ในชื่อ Adobe RGB นั่นแหละ ถ้าจะให้มีขึ้นมาคุณก็ต้องใส่อะไรลงไป แต่คุณจะรู้ได้ยังไงว่าใส่เข้าไปแล้วมันจะเป็นยังไงถ้าจอของคุณแสดงสี Adobe RGB ให้เห็นไม่ได้?

อย่างที่บอกครับว่า SW270C รองรับระบบ Adobe RGB นี้ด้วย (รวมถึง BenQ รุ่นอื่นๆ ที่เป็น Photographer Monitor) เพราะแสดงสีสันในระบบของ Adobe RGB ได้มากถึง 99% ทำให้คุณปรับแต่งภาพที่ใช้ระบบ Adobe RGB ได้แม่นกว่า ส่วนถ้าเป็นระบบ sRGB ละก็รุ่นนี้รองรับ 100% มีสีเท่าไหนก็แสดงผลออกมาให้เห็นได้เท่านั้น และสำหรับท่านที่ล้ำหน้าขึ้นไปอีกก็ขอบอกว่า SW270C สามรถแสดงผลสีสันในระบบ DCI-P3 ได้ถึง 97%

ดังนั้นความเป็น Photographer Monitor จึงไม่ได้เหมาะกับแค่นักถ่ายภาพเท่านั้น ถ้าคุณเป็นพวกนักกราฟิกห้ามป่วยห้ามพักห้ามรักหมอละก็ จอภาพในตระกูล Photographer Monitor ของ BenQ ก็เหมาะกับคุณด้วยเช่นกัน

 

• 16 Bit 3D LUT

…คืออะไรอีกล่ะ?

ในการตกแต่งสีสันของภาพนั้นมีวิธีทางดิจิทัลอยู่แบบนึงครับ คุณอาจจะคุ้นๆ อยู่บ้างที่ว่าเปลี่ยนโทนสีของภาพได้ง่ายภายในคลิกสองคลิก จากภาพปกติให้เป็นภาพโทนฟิล์มโทนสายเรโทร ฯลฯ ตัวอย่างอะไรประมาณนั้น มันก็คืออะไรแนวนี้นี่แหละครับ

LUT นั้นย่อมาจาก “Look Up Table” ซึ่งก็คือตารางค่าตัวเลขในการแทนค่าสีเดิมทางระบบดิจิทัล สมมุติว่าแทนค่าสีฟ้าด้วยสีฟ้าตุ่นๆ แทนเงามืดด้วยสีน้ำเงินค่าเท่านั้นเท่านี้ มันก็คือตารางค่าตัวเลขทางดิจิทัลที่จะกำหนดว่าแทนที่ค่าใดด้วยค่าอะไรนั่นแหละครับ ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมากมายนัก แต่เพราะมันต้องแทนค่าสีจำนวนมากก็เลยมีค่าตัวเลขเยอะมาก

“3D” ก็คือสามมิติอย่างที่เราคุ้นกันนั่นแหละ แต่ในที่นี้หมายถึงตารางตัวเลขที่เก็บค่าข้อมูลในแนวลึกด้วย ไม่ใช่แค่ตารางแนวตั้ง-นอนเหมือนกับแบบ 1D LUT ดังนั้นปริมาณของข้อมูลจึงมหาศาลมาก

ยิ่งมีลักษณะสีที่ต้องแทนค่าสลับซับซ้อนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงผลได้ยาก ยิ่งต้องใช้สมรรถนะการประมวลผลของโปรเซสเซอร์ที่หนักหน่วงมาก ในที่นี้ก็คือ “การ์ดจอ” ที่ร้องโอดโอยร้อนจี๋อยู่ในเครื่องนั่นแหละ

BenQ มาเหนือ โดยการออกแบบจอภาพให้มีหน่วยประมวลผลสีสันเป็นของตัวเองอยู่ในตัวจอโดยที่ไม่ต้องไปรบกวนการประมวลผลของการ์ดจอมากนัก เค้าสั่งมาว่าให้แสงผลสีเขียวนะพร้อมแปลงค่ามาเป็นแบบนี้ จอก็ประมวลผลเองเลย อารมณ์คล้ายๆ กับที่คุณใช้ใครสักคนคำนวณภาษีให้นั่นแหละ ไม่ต้องมานั่งคิดเองให้ปวดหัวเสียเวลา

7

SW270C มันเหนือตรงที่ในรุ่นก่อนหน้านั้นเป็น 3D LUT ชนิดอ้างอิงข้อมูลแบบ 14 บิท แต่คราวนี้มาแบบ 16 บิท แสดงผลสีได้ระดับพันล้านสี! พูดกันภาษามนุษย์ก็คือมีความสามารถในการเก็บและประมวลผลข้อมูลได้มากกว่าและเร็วกว่านั่นเอง (และด้วยตัวเองด้วยนะ)

ดังนั้นจึงแปลว่า นอกจากจะแสดงผลสีสันได้แม่นยำเที่ยงตรงแล้วก็ยังมีความรวดเร็วด้วย

เคยซูมภาพเข้ามาเยอะๆ บนหน้าจอแล้วมันชะงักงันนิ่งไปเป็นอึดใจไหมล่ะครับ? ก็นั่นแหละ การ์ดจอกำลังหูดับตับไหม้เพื่อแสดงผลภาพอยู่นั่นเอง

สำหรับท่านที่เป็นทั้งสายภาพนิ่งและสายวีดีโอก็ต้องบอกกันเอาไว้อีกนิดนึงว่า SW270C มีคุณสมบัติ “HDR10” รองรับการแสดงผลในระบบ HDR ด้วย

 

• SW270C

ถ้าคุณเข้าใจเรื่องข้างบนที่ยืดยาวนั่นแล้วละก็ มันแทบจะไม่ต้องบรรยายใดๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพการแสดงผลของ SW270C รุ่นนี้อีกแล้ว เพราะทั้งหมดนั่นก็คือสมรรถนะที่มีอยู่ในจอภาพรุ่นนี้นี่แหละครับ

จุดที่เราจะมาพูดถึงกันก็คือ “ดีไซน์” เพราะเค้าไม่ได้เน้นแค่สมรรถนะเพียงอย่างเดียว ต้องรองรับความต้องการหลายๆ ด้านของนักถ่ายภาพด้วย

8• น่าชื่นชมครับ ภายในใช้วัสดุกระดาษ ไม่มีการใช้โฟมในกล่องของรุ่นนี้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว 

อันดับแรกเลยก็คือ เป็นจอภาพที่มีช่องเสียบ SD Card มาให้ด้วย …นี่แหละจอสำหรับตากล้องแน่ๆ คุณไม่ต้องมีการ์ดรีดเดอร์แล้วล่ะถ้าใช้จอรุ่นนี้ เว้นแต่ว่าคุณใช้การ์ดชนิดอื่นก็ต้องไปหามา

แต่ที่มันยิ่งเจ๋งคืออะไรรู้ไหมล่ะครับ? เพราะจอ SW270C เนี่ยมีพอร์ตเชื่อมต่อชนิด USB-C มาให้ ซึ่งมันคือพอร์ตครอบจักรวาล ในอดีตนั้นเรารำคาญกับพวกสายสัญญาณอะไรต่ออะไรให้วุ่นวายไปหมด แต่ตอนนี้คุณจะเหลือเพียงสองเส้นเท่านั้น นั่นก็คือสายไฟฟ้าสำหรับจอ และสาย USB-C มาต่อเข้าเครื่องคอม โดยเฉพาะถ้าเป็นโน๊ตบุ๊คละก็ยิ่งเด็ด

10

เพราะอะไรน่ะเหรอ? ก็เพราะสาย USB-C ที่นำภาพไปขึ้นจอน่ะมันจ่ายไฟย้อนกลับมาให้คอมพิวเตอร์ได้ด้วย! นั่นแปลว่าไม่ต้องมีสายอะแดปเตอร์จ่ายไฟสำหรับโน๊ตบุ๊คอีกแล้ว และถ้าคุณใช้แต่การ์ดชนิด SD ก็ไม่ต้องมีตัวอ่านการ์ดอีกต่อไป ก็เสียบซะที่จอนั่นแหละ หรือถ้ามีอุปกรณ์ USB อื่นๆ ก็เสียบที่จอเพราะเค้ามีพอร์ต USB 3 มาอีกสองพอร์ตส่งข้อมูลวิ่งผ่านสาย USB-C กลับมาหาคอมพิวเตอร์ด้วย จบมั๊ย?

9

แต่ถ้าคุณไม่ได้ใช้เครื่องคอมที่เป็น USB-C ละก็ SW270C จะมีพอร์ต HDMI และ Display port มาให้ใช้ครับ HDMI นี่มีมาให้ถึงสองพอร์ตเลยเชียวแหละ นี่คุณจะเอาอุปกรณ์บันเทิงชนิดอื่นมาเสียบสลับใช้ด้วยก็ยังได้เลย

SW270C จะจ่ายไฟผ่านสาย USB-C กลับมาที่กำลัง 60 วัตต์ ถ้าคอมของคุณใช้พลังงานแค่นี้ละก็สบายมาก (โน๊ตบุ๊คส่วนใหญ่ก็ใช้ไม่เกินนี้ล่ะครับ)

 

• Assembly design

“ฮูด” ไม่ใช่มีแค่เฉพาะที่เลนส์ แต่ที่จอภาพก็มีด้วย ซึ่งจอ SW270C นี้ก็มีฮูดมาให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องซื้อเพิ่ม ติดเข้าไปแล้วดูหล่อดูโปรขึ้นมาเลยทีเดียว

11

แต่ฮูดนี้ไม่ใช่มีแค่เพื่อความเท่นะ มันช่วยป้องกันแสงรบกวนจากภายนอกได้บางส่วน และโดยส่วนตัวผมแล้วมันยังช่วยป้องกันฝุ่นที่จะร่วงลงมาจับหน้าจอได้บางส่วนด้วยอีกต่างหาก ที่เจ๋งก็คือด้านในของฮูดมีการบุกำมะหยี่มาเพื่อป้องกันการสะท้อนแสงไปที่จอด้วย แหม เค้าคิดมาเพื่อช่างภาพแทบจะทุกจุดจริงๆ

ด้านบนของฮูดมีช่องสไลด์ที่เปิดปิดได้ ก็ทำมาเพื่อให้คุณสามารถหย่อนตัวคาลิเบรเตอร์ลงมาจับหน้าจอนั่นเอง ซึ่งช่วยให้สะดวกยิ่งขึ้นอีก ตรงนี้ผมมีข้อเสนอนิดนึงว่าช่องอาจจะเล็กไปหน่อยครับ คาลิเบรเตอร์บางรุ่นหย่อนลงมาตรงๆ ไม่ได้ (กรณีของผมคือ Spyder 5) ต้องใช้วิธีสอดสายขึ้นไปข้างบนแทน ซึ่งรุ่น SW2700PT ที่ผมใช้งานอยู่ด้วยจะต่างออกไปเพราะช่องนี้มีขนาดใหญ่พอที่ผมจะหย่อน Spyder 5 ลงมาได้เลย แต่เพราะเราก็ไม่ได้ใช้มันบ่อยๆ ก็เลยไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตอะไรเท่าไหร่

จอในซีรีย์ SW นี้จะออกแบบมาให้ส่วนขอบของจอภาพเป็นแบบขอบบางครับ ดังนั้นถ้าคุณใช้สองจอภาพต่อกันมันก็จะแสดงความต่อเนื่องของทั้งสองจอได้อย่างน่าประทับใจเลยเชียวล่ะ อ้อ! จะหมุนใช้จอภาพเป็นแนวตั้งก็ได้นะ สายพอร์ตเทรตคงจะฟินเลยล่ะ

12

ที่ผมประทับใจมากเลยก็คือวิธีการออกแบบจอของ BenQ ครับ การติดตั้งประกอบทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลยแม้แต่ชิ้นเดียว นั่นทำให้มันง่ายมาก และช่วยได้หากคุณต้องมีการนำออกไปใช้นอกสถานที่ด้วย ประหยัดเวลาได้เยอะเลย

13

14

15

 

สายสัญญาณที่มีมาให้ก็คือ AC Power, USB และ ThunderBolt to Display Port หากคุณจะใช้สายชนิดอื่นต้องซื้อมาเพิ่มครับ อันนี้โดยส่วนตัวนิดนึงก็คือ ถ้ามีสาย USB-C มาให้ด้วยก็จะยิ่งดีมากเลยทีเดียว เวลาซื้อก็ดูให้ดีนะครับว่าต้องเป็นสายที่เป็นมาตรฐาน USB-IF Certified 3.1 แบบที่ส่งไฟฟ้าผ่านสายได้ด้วย ดูอย่าให้ต่ำกว่า 60W (วัตต์) ตามคุณสมบัติของจอล่ะครับ

 

• ลองใช้งาน

ผมเองมีจอภาพในซีรีย์นี้ใช้งานอยู่แล้วสองรุ่น นั่นคือ SW2700PT และ SW271 ซึ่งบอกได้เลยว่าเรื่องการแสดงผลของสีสันที่แม่นยำเป็นอะไรที่ผมประทับใจมากอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็ต่อทั้งสองจอนี้ใช้งานพร้อมกันอยู่

SW270C จะเข้ากับ SW271 ได้ดีเพราะระบบใกล้เคียงกัน และขอบของจอภาพก็ดีไซน์ให้เป็นแบบบางเหมือนกัน หน้าตาคล้ายกันมากจนแทบจะแยกไม่ออก ซึ่งพอนำมาใช้งานร่วมกันก็คงจะยิ่งดีเข้าไปใหญ่

ตัวจอสวยงามครับ แถม SW270C ยังออกแบบให้สามารถยกขึ้นได้สูงเป็นพิเศษ ทำให้มีพื้นที่ด้านล่างจากพื้นโต๊ะในแนวดิ่งใช้งานมากกว่าเดิม วางโน๊ตบุ๊คไว้ด้านล่างแล้วเปิดใช้งานไปพร้อมกันได้เลย

ความละเอียดคมชัดนั้นไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว และที่สำคัญคือส่วนผิวจอของ SW270C ยังมีการเคลือบผิวแบบใหม่เพื่อป้องกันแสงสะท้อนซึ่งรบกวนสายตาด้วย เรื่องนี้หลายท่านคงรู้ซึ้งว่าจอภาพแบบแวววาวน่ะมันเป็นอุปสรรคต่อการแต่งภาพของเราขนาดไหน แต่สำหรับจอรุ่นนี้แล้วหายห่วงไปเลย

16

อย่างที่บอกไปครับว่าเค้าเป็นจอคอมแต่งภาพสีตรงโดยที่มีการคาลิเบรทมาจากโรงงานให้พร้อมใช้งานได้อยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงสามารถเริ่มงานได้ทันที แต่ก็นั่นแหละครับ เราก็คาลิเบรทซ้ำอีกสักรอบนึงเพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมในการทำงานของเรา ซึ่งผมใช้ตัวคาลิเบรทของ Spyder 5 ร่วมกับซอฟต์แวร์ Palette Master Element ของทาง BenQ เอง

อันที่ปลื้มมากก็คือ เพราะเป็นจอภาพที่ใช้พอร์ตแบบ USB-C (Thunder Bolt 3 ของ Mac นั่นแหละ) เมื่อผมต่อมันเข้ากับ MacBook ตัวเล็กภาคสนามของผมซึ่งมีพอร์ต USB-C แค่พอร์ตเดียว เดิมทีก็ต้องมี USB-C Adapter มาแปลงออกมาเพื่อให้ต่ออุปกรณ์นู่นนี่นั่น (รวมถึงตัว Spyder 5 นี่ด้วย) แต่พอต่อเข้ากับ SW270C ผ่านสาย USB-C เพียงเส้นเดียวทุกอย่างก็จบเลย ผมไม่ต้องใช้ USB-C Adapter, ไม่ต้องต่อ AC Adapter สำหรับ MacBook เพราะ SW270C จะจ่ายไฟมาให้ ส่วน Spyder 5 ก็เสียบเข้ากับ USB HUB ของจอภาพ และเอาจริงๆ นะ ผมก็เสียบ SD Card ที่จอภาพเพื่อเรียกดูภาพได้อีก มันช่างดีงามอะไรเช่นนี้ ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ

17

การคาลิเบรทด้วย Palette Master Element ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรครับ เค้าออกแบบซฟต์แวร์มาค่อนข้างดี คุณเพียงเลือกคำสั่งแค่สองสามรายการจากโหมด Basic  จากนั้นทาบตัวคาลิเบรเตอร์เข้ากับหน้าจอให้ตรงกับตำแหน่งที่เค้ากำหนดมาให้แล้วก็รอไปสักพักจนกว่าการทำงานจะเสร็จสิ้นพร้อมรายงานผลการคาลิเบรทมาให้ทราบ ถ้ายังไม่เป็นที่พอใจจะทำใหม่อีกรอบก็ยังได้

ตรงนี้ผมขอแนะนำนะครับว่าคุณควรคาลิเบรทจอที่ต่อกับเครื่องคอมที่คุณใช้งาน เพื่อให้มันทำความรู้จักกันให้ได้มากที่สุด (ประเด็นก็คือการ์ดจอ) การคาลิเบรทโดยต่อจอกับคอมเครื่องหนึ่งแล้วนำไปใช้กับอีกเครื่องหนึ่งจะให้ผลที่ไม่แม่นยำเท่าที่ควร เพราะมันมีเรื่องของการสร้างไฟล์ ICC Profile ใช้ร่วมกับ OS อีกด้วย

และผมแนะนำให้คุณใช้ซอฟต์แวร์ Palette Master Element ครับ เพราะมันจะคุยกับ Hardware Calibration ที่อยู่ในตัวจอได้รู้เรื่องที่สุดละ ก็เค้ามาจากบ้านเดียวกันนี่นา

22

เพียงแค่นี้คุณก็ได้จอภาพที่แม่นยำยิ่งขึ้นไปอีก ที่ดีงามในแง่ของการดีไซน์อีกอย่างก็คือ ฮูดบังแสงด้านบนมีช่องสไลด์เปิดปิดให้เราหย่อนตัวคาลิเบรเตอร์ลงมาได้ด้วย

อ้อ! เทคนิคเล็กๆ ก็คือ ให้คุณแหงนหน้าจอขึ้นเล็กน้อยให้มันเอียงๆ ครับ ตัวคาลิเบรเตอร์ก็จะทาบสนิทอยู่กับที่บนพื้นผิวจอได้มากขึ้น

BenQ SW270C ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับรุ่นก่อนหน้า หลังจากการคาลิเบรทแล้วสีสันก็ย่อมจะแม่นยำขึ้นอีก (แต่บอกตรงๆ ว่าดูไม่ค่อยออกหรอกเพราะค่าเดิมจากโรงงานก็อยู่ในระดับที่ดีอยู่แล้ว)

มีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างนึงครับ ถึงแม้ว่าเราจะสามารถกดปุ่มเพื่อสลับระบบสีแบบต่างๆ ให้ดูได้เพื่อการพิจารณา เช่น Adobe RGB/sRGB ว่าไฟล์ภาพของเราจะหน้าตาเป็นยังไงโดยที่ยังไม่ต้องใช้คำสั่งในโปรแกรมแต่งภาพ แต่บางครั้งเราก็ดูไม่ออกเพราะจำความแตกต่างในลักษณะของแต่ละระบบสีไม่ได้ BenQ เค้าก็เลยใส่คุณสมบัติ “PIP/PBP” มาให้ ซึ่งในที่นี้เพื่อให้ตรงประเด็นก็คือ “PBP” Picture By Picture (ส่วน PIP คือ Picture In Picture) อันเป็นการเรียกแสดงสีสองระบบขึ้นมาวางคู่กันให้เราเห็นเลยว่ามันแตกต่างกันยังไงแค่ไหน ก็ยิ่งช่วยให้ตัดสินใจได้แม่นขึ้นไปอีก

19

ดีงามทุกพระรามกันไปเลยทีเดียว

 

• Hotkey Puck G2

ดูเหมือนของเล่นประจำรุ่นอันน่ารักกับทรงกลมๆ มีปุ่มและแป้นหมุนนูนๆ วางอยู่ที่ส่วนฐานซึ่งออกแบบมาให้มีเบ้าที่รับกันได้อย่างลงตัว

20

แต่ขอบอกว่าพี่ไม่ได้มาเล่นๆ เพราะจอ SW270C นี้มีความสามารถในการแสดงผลภาพได้หลากหลายแบบโดยยังไม่ต้องใช้คำสั่งในโปรแกรมตกแต่งภาพ ยกตัวอย่างเช่น แสดงผลให้เป็นภาพขาวดำ (BW) หรือแสดงผลสีแบบ sRGB หรือ Adobe RGB โดยวิธีการกดปุ่มที่ขอบจอเพื่อเข้าเมนู แต่ถ้าจะให้เร็วก็กดที่ปุ่มจากบน Hotkey นี้สลับไป-มาได้เลย ซึ่งเจ้าอุปกรณ์เท่ๆ ตัวนี้เค้าออกแบบมาให้คุณกดแล้วหมุนเลือกคำสั่งในเมนูต่างๆ ของ SW270C ได้เลยโดยที่ไม่ต้องละสายตาจากจอภาพ อารมณ์คล้ายกับปุ่มควบคุมที่มีอยู่ในรถยุโรปหรูประมาณนั้นเลยทีเดียว ซึ่งรุ่นแรกจะไม่มีแบบนี้ครับ ขอบอกว่าสะดวกรวดเร็วเข้าไปอีก

21

มีแล้วมันดียังไง? คุณก็จะสามารถดูผลของภาพโดยคร่าวๆ ได้ก่อนที่จะปรับแต่งจริงไงล่ะครับ ช่วยประหยัดเวลาได้เยอะมากมาย ลองนึกถึงภาพนับร้อยนับพันที่ถ่ายมาจากอีเว้นท์เมื่อคืนนี้ดูสิ การต้องมานั่งใส่คำสั่งเฉพาะแค่ดูผลเพื่อพิจารณาทีละภาพนี่ก็ใช้เวลาไม่น้อยอยู่นะ เทียบกับการกดปุ่มนี้แค่ครั้งเดียวเท่านั้นเอง

 

• สรุป

โดยสรุปแล้วเหตุผลของการเลือกใช้จอภาพดีและแสดงผลสีสันได้แม่นยำเที่ยงตรงนั้นเราก็คงรู้กันไปแล้วว่าเพราะอะไร จอภาพ BenQ รุ่น SW270C รุ่นใหม่นี้ก็เป็นพัฒนาการอีกขั้นของจอภาพที่ออกแบบมาเพื่อให้นักถ่ายภาพไปถูกทางสำหรับการปรับแต่งภาพได้มากยิ่งขึ้น ส่วนในเรื่องความละเอียดคมชัดนั้นแทบไม่ต้องพูดถึงเพราะทำได้ดีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วนี่นะ

และเพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้นไปอีกก็ขอบอกว่า BenQ SW270C ได้รับคำรับรองคุณภาพจาก Pantone (งานสิ่งพิมพ์) และ CalMAN (วานสีดีโอ) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกทางด้านสีสันทั้งคู่

• ขนาด 27 นิ้ว อัตราส่วนภาพ 16:9 ความละเอียด 2560×1440 พิกเซล

• AQCOLOR 99% Adobe RGB, 97% DCI P3, 100% sRGB

• 16 bit 3D LUT, Delta E 2

• HDR10

• USB-C พร้อมกับจ่ายพลังงานไฟฟ้ากลับมาให้คอมพิวเตอร์

• รับรองคุณภาพโดย Pantone และ CalMAN

อย่าลืมนะครับว่าในท้ายที่สุดแล้วภาพที่ปรับแต่งจากการมองเห็นภาพอันเที่ยงตรงจะให้ผลที่ดีได้มากกว่าไม่ว่าคุณจะเป็นมืออาชีพหรือไม่ก็ตาม จอภาพนี่แหละครับตัวสำคัญนัก หลายท่านที่ผมแนะนำให้ลองดูก็ปรากฏว่าผลงานภาพถ่ายในท้ายที่สุดออกมาดูดีกว่าเดิมแบบเห็นๆ กันเลยทีเดียว เพราะเลิกหลงทางจากการปรับแต่งภาพที่สีสันฉูดฉาดเกินพอดีอันเกิดจากการที่เห็นสีสันไม่ตรงกับความเป็นจริงจากจอภาพเดิมมาแล้วไม่น้อย ซึ่งจอภาพของ BenQ นี่แหละที่ปรากฏออกมาปฏิวัติวงการถ่ายภาพกันไปเลย…อยากเห็นผลงานภาพถ่ายที่แท้จริงของคุณเองไหมล่ะครับ?

SW270C คือรุ่นที่ย่อมลงมากว่า SW320C (ซึ่งมีขนาด 32 นิ้ว ความละเอียด 4K) และ SW271 ที่มีขนาด 27 นิ้วเหมือนกันแต่เป็นระดับ 4K เว้นแต่ว่า SW270C จะมีคุณสมบัติด้าน 3D LUT ที่เหนือกว่าแม้ว่าจะมีความละเอียดในระดับ 2K (2560×1440 พิกเซล) และมี Hotkey Pluck G2 ที่คุณสมบัติเหนือกว่าทุกรุ่น

SW270C มีราคาในขณะที่ผมทำรีวิวนี้อยู่ที่ 31,900 บาท ช่องทางในการซื้อคือที่ JIB, Jedi, Ilovetogo และสั่งออนไลน์ที่ BenQ Official Store

และรับประกัน 3 ปี ว้าว! ถ้าไม่แน่จริงเค้าก็คงจะไม่กล้าแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม คุณยังมีทางเลือกสำหรับจอคอมแต่งภาพสีตรงที่ย่อมเยากว่าในรุ่น SW2700PT (27 นิ้ว 2K) และ SW240 (1920×1200 พิกเซล) ซึ่งก็ล้วนมีคุณสมบัติในการแสดงสีสันที่แม่นยำเที่ยงตรงเช่นกัน สำหรับผมแล้วคิดว่า SW270C นี้มีคุณสมบัติระดับสูงในหลายๆ ด้าน ในขณะที่ราคาก็ยังไม่สูงมากเกินไปหากเทียบกับรุ่นที่เหนือกว่า เพราะนอกจากเรื่องของสีสันที่แม่นยำแล้ว ความสะดวกสบายในแง่ของ USB-C ตามที่เล่าไปก็เป็นอะไรที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะเลยทีเดียว

SW270C กล้าดีแค่ไหนที่ใช้คำว่า “Photographer Monitor”? เอาแค่แสดงสีสันได้เที่ยงตรงแม่นยำก็โอเคแล้ว แต่นี่กลับมีคุณสมบัติที่เกินกว่านั้นไปอีกตั้งไกลแน่ะ

…มันแทบจะใช้คำว่า “Photographer must have” ได้เลยทีเดียว!

ปิยะฉัตร แกหลง

XT e-Magazine

กันยายน 2019

 

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ  http://visit.news/FotoBenQSW270C

สั่งซื้อออนไลน์ที่ BenQ Official Store: https://s.tenmax.io/Suhwk

ติดตามข่าวสารของ BenQ ได้ที่ https://www.facebook.com/BenQThailand/

 

Comments

comments

You may also like...