รูรับแสง (ช่องรับแสง) : Lens Aperture

 

เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องของ “รูรับแสง” ของเลนส์กล้องถ่ายภาพว่ามันคืออะไร และจะใช้งานมันยังไง?

aperture2

รูรับแสงหรือ Aperture คือ ปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้าสู่กล้อง มันถูกติดตั้งอยู่ที่ตัวเลนส์โดยมีลักษณะที่สามารถย่อให้เล็กหรือขยายให้ ใหญ่ได้จากการควบคุมของผู้ถ่ายภาพผ่านกลไกการทำงานของกล้องและเลนส์

โดย หน้าที่ของมันคือการควบคุมปริมาณแสงที่จะเดินทางผ่านเลนส์ ยิ่งรูรับแสงมีขนาดใหญ่มากแสงก็จะยิ่งผ่านได้มาก ในทางกลับกันถ้ารูรับแสงมีขนาดที่เล็กลงแสงก็จะเดินทางผ่านเข้าไปได้น้อย ด้วย ซึ่งลักษณะในการควบคุมปริมาณแสงนี้จะมีความสำคัญต่อการถ่ายภาพที่ต้องใช้แสง ในการบันทึกภาพ หากแสงมีปริมาณน้อยเกินไปภาพก็จะมืด แต่ถ้าแสงมีปริมาณมากเกินไปภาพก็จะสว่าง

ถ้าอย่างนั้นเราจะต้องควบคุมรูรับแสงให้เล็กหรือใหญ่ไปเพื่ออะไร? คำตอบก็คือนอกจากเรื่องของปริมาณแสงแล้ว รูรับแสงขนาดเล็กหรือใหญ่ยังมีผลต่อ “ช่วงระยะชัด” (Depth of Field) ของภาพถ่ายด้วย รูรับแสงกว้างจะมีพื้นที่ของช่วงระยะชัดที่สั้น ส่วนรูรับแสงแคบจะมีพื้นที่ของช่วงระยะชัดครอบคลุมมากกว่าหรือไกลกว่า

aperture3

ยกตัวอย่างเช่นการถ่ายภาพเสาไฟฟ้าที่เรียงกันไกลออกไป เมื่อใช้รูรับแสงกว้าง (แสงเข้าได้มาก) จะ มีความคมชัดอยู่ตรงเสาไฟฟ้าที่กำลังจับโฟกัสอยู่เท่านั้น แต่เสาต้นที่อยู่ห่างออกไปจะค่อยๆ เบลอออกไปตามลำดับ แต่ถ้าต้องการให้เสาไฟฟ้าต้นที่ห่างออกไปนั้นเข้ามาอยู่ในช่วงระยะชัดด้วยก็ ต้องบีบรูรับแสงให้แคบลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ของช่วงระยะชัดให้ครอบคลุมออกไป มากยิ่งขึ้น

รูรับแสงมีค่าหน่วยกำกับเรียกว่า “F” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ค่า F/Stop” ซึ่งจะใช้ตัวเลขกำกับแสดงขนาดของรูรับแสง เราต้องเรียนรู้และจำเอาไว้ว่าค่าตัวเลขยิ่งน้อยรูรับแสงจะยิ่งกว้างขึ้น และค่าตัวเลขยิ่งมากรูรับแสงก็จะยิ่งแคบลง

aperture4

ตัวอย่างของค่า F ก็คือ F2.8 จะมีรูรับแสงกว้าง ส่วน F16 รูรับแสงจะแคบ นั่นย่อมหมายความว่า F2.8 จะมีแสงเดินทางผ่านในปริมาณที่มากกว่า F16 แต่ F16 จะให้ช่วงระยะชัดที่มากกว่า F2.8

ช่วงระยะชัดนี้มีคำที่เรียกกันทั่วไปอีกว่า “ชัดตื้น” และ “ชัดลึก” ซึ่ง ชัดตื้นหมายความว่ามีช่วงระยะชัดที่น้อย ส่วนชัดลึกจะมีช่วงระยะชัดที่มากกว่า ไม่ได้หมายความว่าชัดระยะใกล้หรือชัดระยะไกลแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับจุดที่เรากำลังจับโฟกัสเป็นสำคัญ ชัดตื้นและชัดลึกจะมาช่วยขยายว่า ณ จุดที่เรากำลังจับโฟกัสอยู่นั้นมันจะกินพื้นที่ในการครอบคลุมระยะชัดออกไป เท่าไหร่

aperture5

ดังนั้นรูรับแสงกว้างๆ (ตัวเลขค่า F น้อย) จะให้ภาพแบบ “ชัดตื้น” ส่วนรูรับแสงแคบๆ (ตัวเลขค่า F มาก) จะให้ภาพแบบ “ชัดลึก” นั่นเอง

ตัวอย่าง ของภาพชัดตื้นที่มักใช้กันก็คือภาพถ่ายบุคคลที่ชัดเฉพาะตัวแบบแต่ฉากหลัง เบลอ ซึ่งจะช่วยเน้นให้ตัวแบบโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ส่วนภาพแบบชัดลึกก็คือภาพถ่ายวิวทิวทัศน์ที่ต้องการให้ทุกสิ่งในภาพอยู่ใน ระยะชัดให้หมดเพื่อความชัดเจน เป็นต้น

ลักษณะของภาพแบบชัดตื้นและชัดลึกนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับ “ทางยาวโฟกัส” ของเลนส์ด้วย ไม่ได้หมายความว่าเลนส์ทุกตัวจะมีค่าชัดตื้นและชัดลึกตามค่า F เท่ากัน เช่นเลนส์ทางยาวโฟกัสสั้นอย่างเลนส์มุมกว้างก็จะมีระยะชัดที่มากกว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสยาวอย่างเลนส์เทเลโฟโต้ ซึ่งที่ค่า F2.8 เหมือนกัน เลนส์มุมกว้างจะมีระยะชัดครอบคลุมพื้นที่มากกว่าเลนส์เทเลโฟโต้ เป็นต้น

สำหรับในกล้องถ่ายภาพยุคปัจจุบัน รูรับแสงจะถูกควบคุมด้วยกลไกอัตโนมัติทางอิเล็คทรอนิกส์ (ในยุคเดิมผู้ถ่ายภาพจะต้องหมุนปรับรูรับแสงเองด้วยมือ) ผู้ ถ่ายภาพกำหนดค่ารูรับแสงเอาไว้ เมื่อกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ กล้องจะสั่งบีบรูรับแสงลงมาเฉพาะในเวลาที่ถ่ายภาพเท่านั้น ส่วนในเวลาปกติรูรับแสงจะถูกเปิดเอาไว้ที่ขนาดกว้างสุดของเลนส์ตัวนั้นเสมอ

เราสามารถตรวจสอบช่วงระยะชัดของค่า F ที่เรากำหนดเอาไว้ได้ก่อนถ่ายภาพโดยการใช้ปุ่ม “DOF” (Depth of field preview button) ซึ่ง มักจะอยู่ข้างเลนส์ เพื่อบังคับให้กล้องบีบรูรับแสงลงมาตามค่าที่เรากำหนดเอาไว้เพื่อตรวจสอบ ลักษณะภาพก่อนถ่ายได้ แต่ในเวลาปกติเราจะเห็นภาพก่อนถ่ายแบบรูรับแสงกว้างสุดเสมอ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ลักษณะภาพที่มีช่วงระยะชัดตามที่เรากำหนดเอาไว้ก็ได้

ผู้ ถ่ายภาพจำเป็นต้องพิจารณาให้น้ำหนักระหว่างปริมาณแสงและช่วงระยะชัดของภาพ ให้ดีในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นอย่าง สปีดชัตเตอร์ และ ISO ร่วมด้วยเพื่อชดเชยเรื่องปริมาณแสงและลักษณะของภาพระหว่างปัจจัยแต่ละอย่างให้ดีจึงจะได้ภาพถ่ายที่เหมาะสมตามต้องการ.

 

Comments

comments

You may also like...