XT:G5 : Choose the right light

 

EveningBird

Canon EOS 6D • Tamron SP 150-600mm F/5-6.3 Di VC USD • @600mm • F/5.6 • 1/180 sec • ISO 400 • 5:39 PM

…รู้จักหัวใจของภาพถ่ายไหมครับ?

สำหรับผมแล้วภาพถ่ายมีหัวใจสามห้อง นั่นก็คือ “แสงเงา-เรื่องราว-องค์ประกอบ” ซึ่งสีสันก็จะจัดอยู่ในเรื่องของแสงและเงาด้วย ถ้ามีทั้งสามอย่างนี้ครบถ้วนอยู่ในภาพละก็มีความเป็นไปได้อย่างมากที่มันจะไปคว้ารางวัลมาจากไหนสักที่ หรืออย่างน้อยๆ ก็อยู่ในความประทับใจของใครสักคนไปอีกนาน

หัวใจอย่าง “แสง” เป็นเรื่องสำคัญยิ่งเลยทีเดียว ดูเถอะครับว่า “นกเอี้ยง” ซึ่งปกติมีหน้าที่ในการไปเลี้ยงควายเฒ่า พอควายกินข้าวแล้วมันก็จะหัวโตเนี่ย (พอรู้จักกันไหม? – -” ) เป็นอะไรที่พบเห็นกันได้ดาษดื่นทั่วฟ้าเมืองไทย ดังนั้นมันก็เลยไม่ได้มีความน่าดูน่าตื่นเต้นอะไรตรงไหน เพราะก็เป็นสิ่งที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไปอยู่แล้ว เรียกว่าโหลมาก…ประมาณนั้น

เมื่อคุณคิดจะจับเอามาใส่ภาพถ่ายแล้วหวังจะให้มันเป็นที่จดจำก็เป็นเรื่องยากมากๆ นะครับที่จะทำได้แบบนั้น เพราะนกเอี้ยงร้อยตัวมันก็หน้าตาเหมือนกันทั้งร้อยตัว ปากเหลืองๆ ตัวดำๆ หน้าตาเซ่อแต่เจ้าเล่ห์ ใส่เจลผมตั้งที่ด้านหน้าออกมาบินปร๋อทุกวัน มันก็เหมือนกันทั้งนั้น คุณก็ต้องดูที่สามหัวใจที่ว่านั่นแหละว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้าง?

เรื่องราว – ถ้าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เล่าเรื่องราวแปลกประหลาดอันนั้นก็จะทำให้นกเอี้ยงของคุณน่าสนใจมากขึ้นในภาพถ่าย นกเอี้ยงกตัญญู นกเอี้ยงโดนรถทับ นกเอี้ยงยกพวกตีกัน นกเอี้ยงเข็นครกขึ้นภูเขา ฯลฯ นั่นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพซึ่งหากคุณหามาได้นะก็จะดีมาก แต่ก็อย่างว่าละครับ นกเอี้ยงนี่นะจะมีเรื่องราวอะไรมากมายนอกจากบินไปบินมา?

ก็ต้องพึ่งในเรื่องของแสงละครับ เพราะมันเป็นอีกหนึ่งในหัวใจของภาพถ่ายเหมือนกัน ไม่ว่าตัวแบบของคุณจะเป็นอะไรก็ช่าง ยิ่งเค้าธรรมดามากเท่าไหร่คุณก็ยิ่งต้องพิถีพิถันเรื่องแสงให้มากๆ เพื่อเปลี่ยนสิ่งธรรมดาให้ดูน่าสนใจและน่าประทับใจมากยิ่งขึ้นเมื่อมันต้องอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าภาพถ่ายนี่แหละ

ผมกำลังรอช่วงพระอาทิตย์ตกอยู่ครับ ระหว่างนั้นมองไปมองมาก็เห็นเจ้าพวกนกเอี้ยงนี่แหละเกาะอยู่บนสายไฟตามธรรมดาของมัน มองด้วยสายตาปกติก็เป็นนกเอี้ยงปกตินี่แหละ แต่พอมองด้วยสายตาของช่างภาพที่นึกถึงเรื่องแสงเป็นสำคัญก็ชักจะน่าสนใจ แสงเหลืองๆ ช่วงเย็นทำให้มันดูน่าสนใจมากขึ้น ดูแล้วภาพถ่ายก็น่าจะออกมาน่าสนใจได้เหมือนกัน

ก็เลยถ่ายภาพมา จัดองค์ประกอบภาพตามสูตร ละลายฉากหลังเสียด้วยระยะโฟกัสเทเลโฟโต้เพื่อให้มันโดดเด่นขึ้นอีก รอจังหวะมันหันหน้าไปตามทิศทางที่คิดเอาไว้นั่นก็คือหันไปทางดวงอาทิตย์แบบว่ากำลังดื่มด่ำกำซาบกับแสงสุดท้ายของวัน (ซึ่งมันคงไม่ได้ซาบซึ้งกับดวงอาทิตย์ขนาดนั้นหรอก น่าจะมองหาแมลงเป็นดินเนอร์มากกว่า) เพื่อเพิ่มเรื่องราวและนำสายตาเข้าไปอีกนิด ปรุงแต่งจินตนาการของคนดูภาพอีกสักหน่อยว่าเลยกรอบภาพออกไปตามสายตาของมันนั่นมีอะไรกันนะ?

แต่หัวใหญ่ใจความก็คือเรื่องของแสงนี่แหละครับ ถ้าคุณคิดว่าภาพนี้สวยก็พูดเลยว่ามันเป็นอิทธิพลของแสงช่วงเย็นบนตัวแบบธรรมดาๆ นี่เอง

…และแนวคิดเรื่อง “แสง” นี้คุณก็นำไปใช้ได้นะ และก็ควรนำไปใช้เป็นอย่างยิ่งซะด้วย ถ้าคุณเป็นอีกคนที่อยู่หลังกล้องเหมือนกัน.

ปิยะฉัตร แกหลง

 

Comments

comments

You may also like...