XT Review : Sony FE 16-35mm F/4 ZA OSS เลนส์ซูมมุมกว้างระดับเทพสะเทือน!

 

ถ้าคุณมี A7 …นี่คือเลนส์ที่ควรต้องมีเพราะมันเป็นเลนส์ซูมมุมกว้างซึ่งจัดมาคู่บุญกันแท้ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ครอบครอง A7R mark II ซึ่งมีความละเอียดระดับมหากาฬ …เพราะอะไรน่ะหรือ?

1

ผมจะเริ่มต้นขึ้นด้วยคำพูดที่ว่า เลนส์ในตระกูล FE ทุกรุ่น รองรับความละเอียดเซนเซอร์รับภาพถึงระดับ 80MPซึ่งนั่นเป็นคำกล่าวที่ผมได้ยินมากับหูจากปากวิศวกรของ Sony เมื่อครั้งเดินทางไปร่วมงานเปิดตัว A7R mark II ที่สิงคโปร์

มันเป็นคำพูดที่ชวนตื่นเต้นหวานหูทีเดียวครับ โดยเฉพาะกับผู้ที่เล็งๆ กล้องรุ่นนี้เอาไว้ แน่ละครับเลนส์รุ่นนี้ก็เป็นหนึ่งใน FE เช่นกัน มันจะทำได้สมกับราคาคุยหรือเปล่า?

ลองดูสเปคกันก่อนเป็นไร?

• Lens Mount Type : Sony E-mount (35mm full frame)

• Lens Stabilization : Optical SteadyShot

• Minimum Focus Distance : 11″ 0.28m

• Lens Groups-Elements : 10 groups, 12 elements

• Filter Diameter : 72mm

• Lens Type : Full-frame E-mount Wide-angle Lens

• Lens Weight : 18.3 oz (518g)

• Aperture (Max.) : f/4.0

• Aperture (Min.) : f/22

• Maximum Magnification : 0.19x

• Focal Length (35mm equivalent) : 16-35mm (35mm) 24- 52.5mm (APS-C)

• Aspheric Elements : 5 aspherical, 1 advanced aspherical

• Aperture Blade : 7 blades (Circular aperture)

• Angle of View : 83°-44° (APS-C) 107°-63° (35mm)

• Dimensions (Approx.) : 3-1/8″ x 4″ (78 x 98.5mm)

• Weight (Approx.) : 18.2 oz (518g)

สำหรับความเป็นเลนส์ถ่ายภาพแล้ว ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า ความคมชัดและ สีสันไม่ว่าคุณจะออกแบบเลนส์โดยอัดสเปคอันหรูเริ่ดอลังการเข้าไปมากแค่ไหนแต่ถ้ามันไม่คมไม่จี๊ดก็เป็นอันจบข่าว โดยเฉพาะกับเลนส์มุมกว้างซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายทาง Optic ที่ผู้ผลิตเลนส์ต้องคิดให้หนัก

เป็นธรรมดาของแสงและชิ้นเลนส์ครับ ยิ่งมันมีมุมรับภาพที่กว้างมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งแสดงจุดอ่อนแอออกมาให้เห็นที่บริเวณส่วนริมส่วนขอบส่วนมุมมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เพียงแค่มีชิ้นเลนส์ระดับคุณภาพขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเทคนิควิธีการรับมือกับสารพัดปัญหาทางด้านแสงอย่างที่ว่า ซึ่งถ้าแก้มาไม่ดีทั้งสีเหลื่อมเอย ความฟุ้งเอย ความเบลอเอย และอีกสารพัดเอยจะยกขบวนมาเสนอหน้ากันในภาพถ่ายให้สลอนเลยทีเดียว

เลนส์ FE 16-35mm F/4 ZA OSS รุ่นนี้ตามออกมาทีหลังโดยมีจุดมุ่งหมายในการเสริมทัพสำหรับกล้องตระกูล A7 โดยเฉพาะ (ถึงแม้ว่ามันจะใช้ร่วมกับกล้อง NEX เชื้อสายไม่ฟูลเฟรมได้ก็ตาม) โดยมีชื่อ ZEISSการันตีรองรับมาอีกชั้นหนึ่ง ก็เรียกว่าสบายใจในเรื่องคุณภาพไปได้อีกขั้น

3

โดยสไตล์ของ ZEISS แล้วก็ต้องจัดว่าให้คอนทราสต์ที่จัดจ้านสีสันโดดเด่นเป็นบุคลิกหลัก ซึ่งย่อมหมายถึงว่ามันเป็นเลนส์ที่เน้นคอนทราสต์ในขั้นสูง แน่นอนครับว่าสำหรับภาพแนวทิวทัศน์ละก็เป็นอันอยู่มือแน่ๆ ซึ่งมันก็เหมาะกับเลนส์มุมกว้างเป็นที่สุด

ผมเองเคยใช้เลนส์รุ่น SAL1635F28Z เมื่อครั้งที่ A900 ยังคงโด่งดัง พบว่ามันเป็นเลนส์มุมกว้างที่จี๊ดมากในทุกด้าน ยกเว้นในเรื่องของน้ำหนักและการเกิด แฟลร์ที่ดูจะมาง่ายไปหน่อย ซึ่งรุ่นนั้นก็เป็นสกุล ZEISS เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อขึ้นชื่อว่า ZEISS ก็ใช่ว่าจะวางใจกันในทุกด้านได้เสมอไป

ดังนั้นผมจึงยังไม่วางใจเจ้า 16-35 ร่างเล็กเวอร์ชั่นนี้กันง่ายๆ

ภายนอก

ต้องบอกเลยครับว่านี่คือเลนส์ไฮโซหน้าตาดีสมศักดิ์ศรีอารยธรรมโซนี่เค้าเลยทีเดียวครับ วัสดุดูดี วงแหวนปรับซูมและโฟกัสดูแจ่มมาก ความราบลื่นและต่อเนื่องของการหมุนแหวนซูมดีมาก แหวนโฟกัสเบาไปนิดแต่ก็ลื่นดี ที่จะไม่ดีก็คือมันอยู่ติดกันไปหน่อย ทำให้บางครั้งหมุนซูมแล้วนิ้วเจ้ากรรมดันไปแถมเอาโฟกัสเข้าไปด้วย ซึ่งก็ต้องปรับตัวกันสักพักถึงจะชิน

2

ขนาดและนำ้หนักกำลังดีครับ เล็กกระทัดรัดเหมาะมือ แต่บางท่านก็อาจจะติงว่ามันยังใหญ่ไปหน่อยเมื่อใช้ร่วมกับ A7 ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่ได้เทอะทะอะไรมากมายนัก หยวนๆ

ส่วนประกอบอื่นๆ นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรเลย ยังคงความเรียบหรูดูดีเอาไว้ตามสไตล์เลนส์ตระกูลนี้

เจ้าหมอนี่มีความยาวมากกว่า FE 24-70mm F/4 ZA OSS อยู่นิดหน่อยครับ ดูเผินๆ ก็แยกกันไม่ออก เหมือนเมื่อก่อนเปี๊ยบเลยทีเดียว

5

ด้านหน้าเลนส์มีชื่อชั้นระบุว่าเป็น “Vario-Tessar” พร้อมสัญลักษณ์ “T*” ซึ่งหมายถึงระบบการเคลือบผิวชั้นเลิศของค่ายนี้เค้านั่นเอง

4

หน้าเลนส์ขนาด 72mm หาฟิลเตอร์ใช้งานไม่ยากเท่าไหร่

ภายใน

เลนส์รุ่นนี้แบ่งเป็น 12 ชิ้น 10 กลุ่ม รูรับแสงกว้างสุด F/4 แคบสุด F/22 มีชิ้นเลนส์แบบ Advanced Aspherical Lens (AA Lens) เป็นชิ้นใหญ่สุดซึ่งอยู่ด้านหน้าสุด และยังประกอบด้วยชิ้นเลนส์พิเศษแบบ Aspherical และ ED อยู่ในกลุ่มต่างๆ ซึ่งชิ้นเลนส์เหล่านี้นี่แหละจะเป็นตัววัดว่ามันจะอยู่หรือจะไปในด้านคุณภาพของภาพ แต่ใส่กันมาให้แบบนี้ก็น่าจะอยู่นั่นแหละ

6

เลนส์รุ่นนี้มีระบบช่วยลดอาการสั่นไหว “Optical SteadyShot” ในระดับทำงานกันสั่นที่ชิ้นเลนส์ ซึ่งมันก็จะสื่อสารกับระบบของกล้องแบบอัตโนมัติโดยแบ่งหน้าที่กันไปว่าใครจะทำหน้าที่แบบไหนยังไงเพื่อช่วยลดเสี้ยนหนามของชีวิตอย่างอาการสั่นไหวให้มากที่สุด คุณไม่ต้องทำอะไรครับ เดี๋ยวกล้องกับเลนส์เค้าคุยกันเอง

ทำได้อย่างเดียวคือสั่ง ปิดระบบกันสั่นทั้งหมดจากคำสั่งในตัวกล้องในยามที่คุณไม่ได้ต้องการมัน

ผลการใช้งานจริง

ผมได้ทดลองเลนส์ตัวนี้ในระยะเวลาช่วงหนึ่งเพื่อพยายามที่จะค่อนแคะหาทางจับผิดมันในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องของ แฟลร์ที่ผมยังไม่วางใจมาตั้งแต่สมัยรุ่นพี่รุ่นเดอะของมัน ซึ่งสำหรับเลนส์มุมกว้างแล้วละก็ปัญหานี้คือไม้เบื่อไม้เมาอันดับหนึ่งกันเลยทีเดียว

A7RII_29

ผลปรากฏว่าปัญหาเรื่องนี้ได้หายไปเรียบร้อยโรงเรียนโซนี่ครับ ถ้าจะมีปรากฏอยู่บ้างก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก บางครั้งเราอยากจะให้มีแฟลร์บ้างอะไรบ้างเจ้าหมอนี่ก็ไม่ค่อยจะยอมอนุญาตสักเท่าไหร่

เรื่องของแฟลร์นี้บางท่านอาจจะไม่ได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตอะไร อาการของมันก็จะเกิดเป็นวงแสงที่สะท้อนจากแหล่งแสงแล้วปรากฏเป็นวงๆ จะกี่วงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้นเลนส์ที่มี และจะเล็กจะใหญ่ก็ตามขนาดชิ้นเลนส์ที่มีอีกเหมือนกัน ในภาพบางประเภทก็ดูสวยงามเก๋ไก๋ไปอีกแบบ วงแฟลร์ที่เกิดขึ้นนี้จะมีผลทำให้สีสันและคอนทราสต์บริเวณนั้นดูต่างออกไป ซึ่งถ้ามันไปปรากฏในตำแหน่งสำคัญของภาพก็จะทำให้ภาพนั้นมีปัญหาทางด้านคุณภาพได้ ดังนั้นการที่ไม่มีแฟลร์ปรากฏอยู่จึงเป็นเรื่องปลอดภัยที่สุด ซึ่งมันก็เป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับผู้ผลิตเลนส์ด้วยเช่นกัน

…และเลนส์รุ่นนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าถึงจะไม่ง่ายแบบขนมกรุบ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

A7RII_26

ความคมชัดเป็นเรื่องของปีศาจและเลนส์รุ่นนี้! อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วครับว่าจุดอ่อนของเลนส์มุมกว้างมากๆ นั้นก็มักจะอยู่ตามขอบภาพนั่นแหละ โดยเฉพาะเรื่องของความคมชัดนั้นจะเป็นอะไรที่ฟ้องออกมาชนิดร้องแรกแหกกระเชอกันสามบ้านแปดบ้าน

แต่เลนส์รุ่นนี้ทำผลงานในส่วนขอบภาพออกมาได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียวครับ มันเข้าข่ายที่เรียกกันว่า คมชนขอบนั่นเลย เอาล่ะ…อย่าได้เปรียบกับส่วนกลางภาพเพราะตรงนั้นมันก็มักจะคมชัดสูงสุดของเลนส์แต่ละตัวอยู่แล้ว แต่ส่วนขอบของเลนส์รุ่นนี้ยังคงทำได้ดีถึงแม้ว่าจะเป็นมุมกว้างสุดที่ 16mm ก็ตาม

7

ดูจาก MTF Chart แล้วใจมันหวิวๆ เพราะผลงานดูเหมือนจะร่วงตามขอบภาพชอบกล แต่ก็ยังมีส่วนที่ยังแตะติดระดับสูงสุดได้อยู่ ก็นั่นแหละครับ…เรื่องของ MTF น่ะมันเป็นเรื่องของในห้องแลบ มันยังมีเหตุผลอีกหลายประการที่จะอธิบายความเป็นเลนส์แต่ละตัวจากการใช้งานจริงโดยที่ผลในห้องแลบไม่สามารถบอกได้ และอย่าลืมนะครับว่านี่เป็นเลนส์มุมกว้าง (มาก) ดังนั้นถ้ากลางภาพอยู่ในระดับสูงที่สุดตามขอบภาพก็ย่อมจะต้องร่วงหล่นเป็นธรรมดา ไม่เหมือนกับเลนส์ระยะเทเลโฟโต้ที่แจ๋วตั้งแต่กลางภาพไปชนขอบภาพในระดับเดียวกันได้เลย ซึ่งความคมชัดสำหรับเลนส์รุ่นนี้ต้องจัดได้ว่าเยี่ยมยอด อาการสีเหลื่อม (CA) แทบไม่ปรากฏมาให้เห็น

A7RII_32

 

8

A7RII_1

สีสันและคอนทราสต์ภายใต้ชื่อชั้นของ ZEISS นั้นเป็นสิ่งที่ไว้วางใจได้เสมอ แน่นอนครับว่ามันย่อมต้องหมายรวมถึงเลนส์ตัวนี้ด้วย ถ่ายทิวทัศน์นี่แบบว่าจี๊ดดดดดกันไปเลย

A7RII_27

A7RII_30

อีกอย่างหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ เห็นมันตัวเล็กหน้าตาผู้ดีแบบนี้แต่มันเป็นเลนส์ลุยครับ เค้ามีระบบ Weather Seal มาให้ด้วย เมื่อใช้งานร่วมกับกล้องที่มีระบบลุยแบบนี้ได้ก็แปลว่าคุณถ่ายภาพกลางสายฝนเลยก็ยังได้

A7RII_31

A7RII_23

ผมไปเฝ้ารอถ่ายภาพฟ้าผ่าอยู่นานสองนานครับ ฝนสาดกันเปียกปอนไปหมด แน่ละครับว่าทั้งกล้องทั้งเลนส์เองก็โดนด้วยซึ่งผมไม่ได้มีอะไรมาเตรียมป้องกันให้มันเลย หยดน้ำนี่เกาะทั่วไปหมดจนดูน่าหวาดเสียว แต่จนแล้วจนรอดมันก็ยังปลอดภัยและทำหน้าที่อย่างแข็งขันดี จะไม่ดีอยู่อย่างเดียวที่หน้าเลนส์มันก็เปียกไปด้วย ซึ่งก็ต้องคอยเช็ดกันอยู่บ่อยๆ

A7RII_25

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอยากรู้สำหรับเลนส์ประเภทนี้ก็คือ แฉกในยามต้องดวงแสงไฟของมันนั่นแหละว่าจะออกมาดูดีดูเท่ขนาดไหน? ซึ่งก็ต้องขอบอกครับว่าเลนส์ ZEISS นี่ผมยังไม่เคยเห็นแฉกไม่สวยสักตัว ซึ่งเจ้าหมอนี่ก็เช่นกัน ไม่ทำให้เสียชื่อเผ่าพันธุ์ตระกูล “Z” เลย

ข้อดี

  • สีสันความคมชัดเอาไปเลยห้าดาว
  • วัสดุโครงสร้างดีและหน้าตาดีมาก ถือแล้วหล่อสุดๆ
  • มีระบบช่วยลดอาการสั่นไหว Optical SteadyShot ในเลนส์ด้วย
  • Weather Seal อึดทนแกร่ง ลุยแหลก
  • ส่วนขอบภาพทำได้ดีมาก ดีกว่าเลนส์รุ่นก่อนอย่างเห็นได้ชัด
  • เล็กและเบา

ข้อเสีย

  • แหวนโฟกัสและแหวนซูมอยู่ติดกันเกินไปหน่อย

สรุป

มันคือเลนส์ที่ดีที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของ Sony ครับ ถ้าคุณเป็นประเภทคลุกคลีอยู่กับมุมกว้างเป็นประจำละก็อย่างไรเสียก็ต้องไม่พ้นไปจากเลนส์ตัวนี้ แม้ว่ามันจะเป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษรุ่นเดียวในตระกูล FE แต่ก็ใช่ว่าจะต้องฝืนใจทนใช้ๆ กันไป เพราะคุณภาพของมันที่ถ่ายทอดลงไปยังเซนเซอร์รับภาพนั้นยอดเยี่ยมจนเกินหน้าเกินตารุ่นพี่แบบเห็นๆ …สรุปเป็นว่าเลนส์รุ่นนี้ “ไว้ใจ” ได้เลย

โดนเสียเถอะครับถ้า ราคาไม่ใช่เรื่องหนักหนาสำหรับคุณ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ sony.net

ปิยะฉัตร แกหลง [NEXTOPIA]

กันยายน 2558

 

Comments

comments

You may also like...