XT REVIEW : TAMRON 15-30mm F2.8 ในที่สุดก็มาครบไลน์ซูมโปร!

 

มีคำถามที่แฟนๆ TAMRON รอคำตอบกันมานานสำหรับเลนส์ช่วงมุมกว้างไวแสงว่าเมื่อไหร่จะมาเสียที? เพราะก่อนหน้านี้ทั้งช่วงมาตรฐานและเทเลโฟโต้ก็ออกมากันหมดแล้ว …ในที่สุดคำถามนั้นก็ได้รับคำตอบ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่อาจทำให้หลายคนถึงกับอึ้งเมื่อได้เห็นตัวจริง เพราะระยะเริ่มต้นของมันคือ 15mm!

1_Main_Image

TAMRON ประกาศตัวเองไว้อย่างชัดเจนถึงความเป็นเจ้าแห่งผู้ผลิตเลนส์ซูม แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่เต็มเสียงเท่าไหร่นัก เพราะเลนส์ซูมเกรดโปรไวแสงระดับ F/2.8 อันเป็นที่นิยมของตลาดนั้นยังมีเพียงแต่ระยะ 24-70mm (รหัส A007), 90mm Macro (รหัส F004) และ 70-200mm (รหัส A009) ที่ออกมาก่อนหน้านี้นานพอสมควร ซึ่งยังขาดระยะมุมกว้างพิเศษสำหรับกล้องระดับ Full Frame ที่ TAMRON ยังคงปล่อยให้เป็นช่องโหว่อยู่

แต่ในที่สุดมันก็มาจนได้ แถมยังมาแบบไม่ธรรมดาเสียด้วย เพราะน้อยคนนักที่จะคาดไปถึงว่า TAMRON จะเล่นแรงด้วยการส่งระยะเริ่มต้นมาที่ 15mm และซูมปลายอยู่ที่ 30mm ผมเองก็เพียงแต่เดาว่าน่าจะเป็นระยะ 16-35mm เช่นเดียวกับที่มีอยู่ในท้องตลาด …สงสัยจะชดเชยให้สมกับที่แฟนๆ รอมานาน

“SP 15-30mm F/2.8 Di VC USD รหัส A012″ คือชื่ออย่างเป็นทางการของเลนส์มุมกว้างพิเศษรุ่นนี้ครับ เป็นเลนส์มุมกว้างไวแสงถึง F/2.8 ที่มีระบบ “กันสั่น” (ที่เราเรียกกันจนติดปาก) ติดมาให้ด้วย ซึ่งก็ถือเป็นเลนส์ซูมมุมกว้าง F/2.8 รุ่นแรกของโลกที่มีกันสั่นมาในตัว กันสั่นของ TAMRON ก็จะมีชื่อว่า “VC” ซึ่งย่อมาจาก Vibration Compensation นั่นเอง

2_VCSwitch

เลนส์มุมกว้างก็คงไม่ต้องสาธยายกันให้มากความว่ามันย่อมให้ภาพมุมกว้างอยู่แล้วล่ะ แต่ F/2.8 น่ะมันจำเป็นไหม? แล้วกันสั่นน่ะให้มาทำไม? เพราะยังไงเราก็ต้องใช้รูรับแสงแคบเพื่อให้ภาพมันชัดลึกสำหรับวิวทิวทัศน์อยู่แล้วนี่?

สำหรับคำถามข้อแรกในเรื่อง F/2.8 ผมเองคิดว่าคงจะเป็นที่คาใจหลายๆ ท่านอยู่เหมือนกันครับ ซึ่งก็คงไม่เฉพาะกับ TAMRON เท่านั้นหรอก ผู้ใช้ค่ายอื่นๆ ก็คงจะสงสัยอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่า F/2.8 แล้วมันก็ย่อมจะทั้งหนักทั้งแพงแน่ๆ อีกทั้งขนาดมันก็จะใหญ่เพราะความจำเป็นของขนาดชิ้นเลนส์ด้วยอีกต่างหาก โอเค สำหรับเลนส์ระยะอื่นๆ นั่นพอเข้าใจได้ว่าเอาไว้ละลายฉากหลัง ถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอหน้าเบลอหลังชัดอะไรก็ว่ากันไป แต่กับเลนส์มุมกว้างที่เรามักจะใช้ F แคบๆ น่ะเอามาทำไม?

มันเป็นอย่างนี้ครับ…ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อกล้องพร้อมทำงาน รูรับแสงของเลนส์จะถูกเปิดเอาไว้ที่ตำแหน่ง “กว้างสุด” เสมอ ซึ่งที่รูรับแสงกว้างสุดนี้ก็หมายความว่าแสงจะผ่านเข้ามาได้มาก ส่งผลดีต่อระบบโฟกัสอัตโนมัติ, ช่องมองภาพ หรือพูดง่ายๆ ว่ามันช่วยให้มองเห็นได้ดียิ่งกว่าทั้งสำหรับกล้องและคนที่อยู่หลังกล้อง ซึ่งก็จะยิ่งแสดงอิทธิฤทธิ์ดั่งพระเอกขี่ม้าขาวขึ้นมาเลยทีเดียวเมื่ออยู่ในที่ซึ่งมีแสงน้อย เช่น งานพิธีช่วงกลางคืน ในร่ม ในอาคาร ในเธคในผับ ในถ้ำ ในเหว ฯลฯ ซึ่งเลนส์ไวแสงพวกนี้ก็จะได้เปรียบกว่าเลนส์ทั่วไปอยู่ไม่น้อย ซึ่งเลนส์ที่ไม่ไวแสงนั้นก็มักจะวิ่งวืดวาดจับโฟกัสไม่ได้สักทีอยู่ร่ำไปจนชักจะเสียอารมณ์นั่นแหละ

อีกอย่างก็คือคุณสมบัติ “ชัดตื้น” ของภาพถ่ายที่ต้องใช้รูรับแสงกว้าง ยุคนี้เป็นเรื่องของความแปลกใหม่ครับ ดังนั้นก็อย่าไปติดอยู่กับระบบที่ว่าเมื่อเป็นเลนส์มุมกว้างก็ต้องใช้ F แคบๆ เพื่อความชัดลึกเสมอไป เดี๋ยวนี้คนถ่ายภาพภาพมุมกว้างด้วยเลนส์ไวด์แบบชัดตื้นชนิดที่ให้ตัวแบบอยู่ใกล้ๆ ก็มีให้เห็นกันเพียบเลยทีเดียวเชียว

3_F28

ต่อมาก็คือระบบกันสั่น ซึ่งมันจะช่วยลดอาการสั่นไหวของภาพ ปกติเรามักจะคุ้นกับการใช้เลนส์ไวด์ร่วมกับขาตั้งกล้องใช่ไหมล่ะครับ? ซึ่งเจ้าระบบนี้มันย่อมไม่จำเป็นอยู่ดีนั่นแหละเพราะเมื่ออยู่บนขาตั้งกล้องเราก็ต้องปิดระบบกันสั่นไปซะ (ทำไมต้องปิดกันสั่นเมื่ออยู่บนขาตั้งกล้อง อ่านดูได้ที่นี่ครับ) จนกระทั่งคุณต้องถือกล้องมือเปล่าเข้าไปถ่ายภาพในที่ซึ่งมีแสงน้อยอย่างที่ยกตัวอย่างไปด้านบน เมื่อต้องใช้สปีดชัตเตอร์ความเร็วต่ำระบบกันสั่นก็ย่อมจะช่วยได้นั่นแหละ จริงไหมล่ะ?

และอีกอย่างครับ “Cinematography” ก็คือเรื่องฮอตฮิตของผู้คนยุคนี้ที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวกันด้วย DSLR ซึ่งเมื่อจับถือกล้องด้วยมือเปล่า (หรือที่เรียกว่า Hand-held) ระบบกันสั่นก็จะช่วยได้อีกโขเลยเหมือนกัน

เอาล่ะ นั่นมันเป็นเรื่องที่ว่ากันด้วยเหตุและผล ส่วนทั้งสองเรื่องที่มีอยู่ในเลนส์ตัวนี้จะดีจริงหรือไม่ อันนี้ต้องมาดูกันต่อไป

• ภายนอก

ครั้งแรกที่ได้เห็นหน้าตาตั้งแต่เมื่อยังคงเป็นเพียงรูปภาพ ต้องบอกว่าผมเซอร์ไพร์สมากที่ TAMRON เล่นเลนส์ที่ชิ้นหน้าโป่งนูนขนาดนี้ สารภาพตามตรงเลยครับ ผมนึกว่าเค้ากำลังจะออกเลนส์ Fish-eye เข้ามาในตลาด (ซึ่งก็อยากให้ทำอยู่เหมือนกัน) แต่เมื่อได้รับการเฉลยว่าเป็นเลนส์มุมกว้างผมก็นึกถึงเลนส์มุมกว้างพิเศษของอีกค่ายหนึ่งขึ้นมาทันที

และเมื่อได้เจอของจริงสมัยที่ยังเป็นตัวต้นแบบ ต้องยอมรับว่าผิวพรรณหน้าตาดูดี แต่ขนาดและน้ำหนักเป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่บ้าง มันก็ใช่ว่าจะใหญ่โตมโฬารและหนักอึ้งอะไรมากมายนักหนาหรอกครับ แต่ถ้ามันจะเล็กกว่านี้ได้อีกสักหน่อยและเบากว่านี้ได้อีกสักนิดก็น่าจะเยี่ยมเลย

4_Body_1

วัสดุภายนอกและงานประกอบดูดีตามมาตรฐานเกรดโปรครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เพราะตั้งแต่ TAMRON ปรับเปลี่ยนดีไซน์มาเป็นแบบ “Tungsten Silver” ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ด้วยวงแหวนสีเทาเงินรอบกระบอกเลนส์ผมก็ยังไม่เห็นมีตัวไหนที่ทำออกมาแล้วต้องเบือนหน้าหนีเลย ซึ่งรุ่นนี้ก็เช่นเดียวกันครับ สัมผัสแล้วมั่นใจในเงินที่จ่ายออกไปเลยทีเดียว ออกแบบส่วนเว้าส่วนโค้งมาได้ดีและสวยงามมาก

ไม่มีปุ่มควบคุมอะไรให้สลับซับซ้อนนอกจากเพียงสวิทช์ระบบโฟกัสแบบ Auto/Manual และ VC On/Off มาตรแสดงระยะด้านบนบอกระยะโฟกัสเป็นเมตรและฟุต

วงแหวนซูมอยู่ด้านหน้า วงแหวนโฟกัสอยู่ด้านหลัง เป็นวัสดุยางเนื้อดีตามระเบียบ เม้าท์แปลนท้ายเลนส์แบบโลหะ เก็บงานมาเรียบร้อย และมีวงแหวนยางรอบท้ายเลนส์ในส่วนที่จะประกบเข้ากับกล้องเพื่อป้องกันความชื้นและฝุ่นละอองมาให้ด้วย ส่วนนี้ดูเรียบร้อยดี

15_Body_4

ฮูดทรงกลีบดอกไม้ (อันดุดัน) แบบติดตายตัวไม่สามารถถอดออกได้ ช่วยป้องกันหน้าเลนส์ได้ระดับหนึ่ง ฝาปิดเลนส์แบบสวมซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควร ก็ต้องว่าไปตามขนาดหน้าเลนส์นั่นเอง

5_Body_2 copy

เลนส์ชิ้นหน้านี่แหละครับตัวเรียกความสนใจเลย มันเป็นเลนส์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 10 ซม. และผิวโค้งขนาดใหญ่ ดังนั้นเรื่องฟิลเตอร์ทั่วไปคงไม่ต้องพูดถึงเพราะใส่ไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งก็คงต้องรอดูต่อไปว่าจะมีฟิลเตอร์แบบสวมครอบลงมาที่ฮูดออกมาให้ใช้งานขนาดไหน แต่เท่าที่ไปเดินในงาน Photo Fair เมื่อปีที่แล้ว (2557) ก็เห็นมีผู้ผลิตฟิลเตอร์ชนิดนี้ขายอยู่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็จะตกอยู่ในชะตากรรมร่วมของเลนส์มุมกว้าง 14-24mm ของฝั่ง Nikon เพราะมันมีลักษณะด้านหน้าที่ใกล้เคียงกันมาก และแน่นอนว่า EF 11-24mmL ตัวใหม่ล่าสุดของ Canon ก็ร่วมอยู่ในชะตากรรมนี้ด้วยเหมือนกัน

ที่ผมแอบประหลาดใจเล็กๆ ก็คือ เมื่อหมุนซูมหน้าเลนส์ก็จะยืดเข้ายืดออกตามปกติ แต่ TAMRON ใส่ฮูดชั้นที่สอง (Double hood) ให้ขยับตามกระบอกซูมมาด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเหตุผลคืออะไร ซึ่งจากการอธิบายของทาง TAMRON เองเค้าก็ได้บอกเอาไว้ว่าเพื่อความแข็งแรงของระบบเกลียวซูมที่ดีขึ้นของเลนส์นั่นเอง อืมมม ก็ฟังมีเหตุผลอยู่นะ

6_Body_3

• ภายใน

รุ่นนี้มีชิ้นเลนส์ 18 ชิ้นครับ แบ่งเป็น 13 กลุ่ม ในกลุ่มชิ้นหน้าจะมีชิ้นเลนส์แบบ XGM (eXpanded Glass Mold Aspherical) ซึ่งเป็นชิ้นเลนส์ที่ผลิตยากและต้นทุนสูงร่วมอยู่ด้วย และยังมีชิ้นเลนส์แบบ LD (Low Dispersion) นัยว่าชิ้นเลนส์พิเศษเหล่านี้ก็เพื่อช่วยแก้อาการบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน (Distortion) ของภาพและลดอาการสีเหลื่อม CA (Chromatic Aberration) ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเลนส์มุมกว้างอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเลนส์ซูมละก็ ถ้าทำออกมาไม่ดีจริงมันแทบจะไปฉายในโรงหนังสามมิติที่ต้องใส่แว่นน้ำเงินแดงได้เลยเชียว (ฟังดูเข้าท่าดีแต่อันนี้ผมประชด) แต่แท้ที่จริงแล้วเจ้า CA นี่ล่ะตัวทำลายความคมชัดชนิดจำเลยที่หนึ่งเลยทีเดียว

CONSTRUCTION

ชิ้นเลนส์มีระบบการเคลือบผิวทั้งแบบ BBAR (Broad-Band Anti Reflection) และ eBAND อันเป็นลิขสิทธิ์ประจำค่าย เพื่อช่วยลดอาการแฟลร์และแสงหลอกแสงหลอนทั้งหลายให้น้อยลง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกไม้เบื่อไม้เมากับเลนส์มุมกว้างด้วยเช่นกัน

แต่ที่เชิดหน้าชูตาที่สุด (และสมควรที่สุด) ก็คือ การเคลือบผิวเลนส์ชิ้นหน้าสุดด้วยสาร Fluorine ซึ่งจะช่วยปกป้องทั้งจากน้ำและคราบสกปรกต่างๆ รวมไปถึงฝุ่นด้วย ซึ่งมันก็จะไม่เกาะตัวติดกับผิวเลนส์มากนัก หรือถ้าเกาะก็จะเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นจุดอ่อนของเลนส์ที่มีผิวหน้าเป็นรูปโค้งขนาดใหญ่เช่นนี้ เพราะการใส่ฟิลเตอร์ชนิดป้องกัน (Protect) จะทำไม่ได้เลย ดังนั้น TAMRON ก็เลยเคลือบสารไฮโซตัวนี้มาให้รู้แล้วรู้รอดกันไป

7_SECTION

ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ A012 มีลำตัวอวบอ้วนขนาดนี้ก็เพราะต้องใส่ระบบมอเตอร์ออโตโฟกัสแบบ USD และระบบกันสั่น VC เข้าไปด้วย มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้พื้นที่ครับเลยต้องแลกกับทรวดทรงองค์เอวเพื่อให้ได้มาซึ่งสมรรถนะนั่นเอง ครั้นจะใส่มอเตอร์แบบ PZD ซึ่งมีขนาดเล็กเหลือเชื่อของ TAMRON มันก็ไม่เหมาะนัก เพราะ USD ให้ประสิทธิภาพทางด้านความเร็วและความแม่นยำที่ดีกว่า

กลีบรูรับแสง 9 ใบ แน่นอนว่ามันให้โบเก้แบบกลมดิกในรูรับแสงกว้าง และแฉกถี่สวยงามในรูรับแสงแคบ ซึ่งรุ่นนี้สามารถบีบรูรับแสงแคบสุดได้ที่ F/22

• MTF

เมื่อดูจาก MTF Chart ของเลนส์ตัวนี้แล้วก็จะเห็นว่าประสิทธิภาพของมันน่าทึ่งอยู่ไม่น้อย ความคมชัดอยู่ในระดับสูงตั้งแต่กลางภาพ และมาหล่นลงเล็กน้อยบริเวณขอบภาพ แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยเฉพาะถ้าใช้กับกล้อง APS-C ก็จะได้คุณภาพระดับสูงตั้งแต่กลางภาพไปยันขอบภาพเลยทีเดียว

MTF

• สเปคอื่นๆ

- มุมรับภาพกว้างสุด 110 องศา (ที่ 15mm) สำหรับกล้อง Full Frame และ 85 องศาสำหรับ APS-C
- โฟกัสใกล้สุด 28 ซม. อัตราขยาย 1:5
- น้ำหนัก 1,100 กรัม
- สำหรับ Canon, Nikon และ Sony

• ภาคสนาม

ผมเองไม่ค่อยจะแปลกใจในเรื่องของประสิทธิภาพความคมชัดและสีสันในเลนส์ยุคใหม่ของ TAMRON สักเท่าไหร่ครับ เชื่อแน่ว่าต้องทำออกมาได้ดีอยู่แล้ว เพราะเท่าที่ได้ลองเลนส์เกรดโปรไวแสงทั้งสามรุ่นมาก่อนหน้านี้ก็ดูน่าประทับใจสมกับที่เป็นระดับมืออาชีพของค่ายนี้จริงๆ และเลนส์เกือบโปรอย่าง 150-600mm (A011), 28-300mm (A010) และ 16-300mm (B016) อันเป็นเจเนอเรชั่นใหม่นั้นก็ทำผลงานได้ไม่เลว ก็เลยช่วยการันตีผลงานได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นโจทย์ของผมจึงมุ่งไปที่ระยะอันส่งผลต่อองศาการรับภาพและคุณสมบัติต่างๆ ที่เลนส์มุมกว้างควรจะเป็น เช่น ความบิดเบี้ยว, ประกายแฉกจากรูรับแสง, ประสิทธิภาพของระบบกันสั่น VC, รวมทั้งจุดอ่อนของมันอย่างอาการสีเหลื่อม การบิดเพี้ยน ไปจนถึงฟิลลิ่งในการใช้งานในสภาพต่างๆ ก็เลยเลือกสถานที่ซึ่งไม่แคบไม่กว้างมากนักในสภาพแสงไม่เยอะเกินไปสำหรับการใช้งานในชีวิตจริง

8_PHOTO_1

จากการถ่ายภาพจริงก็แน่นอนครับว่าคุณภาพของภาพออกมาน่าพอใจมาก ผมใช้กล้อง Canon EOS 6D (ซึ่งเป็นกล้อง Full Frame) ร่วมกับเลนส์รุ่นนี้ก็เลยยิ่งได้ภาพที่มีคุณภาพกันเข้าไปใหญ่ กล้าที่จะดัน ISO ขึ้นไปสูงเพื่อบวกกับระบบ VC ได้อย่างมั่นใจเลยทีเดียว

คุณภาพของขอบภาพด้อยกว่ากลางภาพดังว่า แต่ก็เพียงเล็กน้อยจนแทบดูกันไม่ออก อาการบิดเบี้ยวโค้งงอ (Distortion) ของเส้นตรงต่างๆ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอนมีน้อยมาก อาการสีเหลื่อมตามขอบ (CA) มีอยู่บ้างเล็กน้อย ไม่ถึงกับไม่มีเลย

9_PHOTO_2

และเมื่อยิงสวนแสงตรงๆ ก็แทบจะตะลึงเพราะไม่มีแฟลร์ปรากฏให้เห็น แต่ถ้ายิงเฉียงหน่อยๆ และเปิดรับแสงมากขึ้นก็จะปรากฏออกมาให้เห็นอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งก็ต้องถือว่า TAMRON เคลือบผิวเลนส์มาได้ค่อนข้างดีมากเลยทีเดียว

10_PHOTO_3

ระบบกันสั่น VC นั้นทำผลงานมาได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้วในรุ่นก่อนหน้า ดังนั้นเมื่อมาอยู่กับเลนส์มุมกว้างซึ่งเกิดปัญหาเรื่องนี้ในระดับต่ำก็ยิ่งช่วยขึ้นได้มากไปอีก ต้องขอบอกว่ามันมีประโยชน์มากทีเดียวครับ อย่างเช่นในสถานการณ์ตัวอย่างนี้ที่วัดราชบพิธ ขณะที่พระสงฆ์กำลังปฏิบัติศาสนกิจอยู่นั้น ผมซึ่งปรากฏกายในฐานะนักท่องเที่ยวธรรมดาจึงไม่สามารถกางขาตั้งกล้องเพื่อใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำให้แสดงการเคลื่อนไหวในภาพได้ ซึ่งระบบกันสั่น VC ก็ช่วยตอบสนองโจทย์นี้ของผมได้โดยการกลั้นใจถือถ่ายภาพด้วยมือเปล่าโดยยืนพิงเสาเอาไว้ ซึ่งมันก็ออกมาน่าพอใจแทบจะทุกชอต

11_PHOTO_4

มุมกว้างถึง 15mm ก็ช่วยได้ในหลายสถานการณ์ และแน่นอนว่าสถานที่ซึ่งมีผู้คนพลุกพล่านอย่างในวิหารของวัดโพธิ์อันเป็นสถานที่ยอดนิยมในพื้นที่จำกัดขนาดนี้ การกางขาตั้งกล้องก็คงไม่แคล้วต้องโดนรุมประณามหยามเหยียดแน่นอน (เผลอๆ มีโดนแฉในโซเชียลอีกต่างหาก) ซึ่งผมก็สามารถใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำเพื่อบันทึกภาพโดยการจับถือกล้องด้วยมือเปล่าได้ และบางโอกาสก็ยกกล้องขึ้นสูงสุดมือด้วยสปีดชัตเตอร์ต่ำด้วยเช่นกัน

12_PHOTO_5

…คุณคงจะสงสัยใช่ไหมล่ะครับว่า 15mm มันจะกว้างกว่า 16mm สักขนาดไหนกันเชียว?

13_PHOTO_6ภาพนี้คือสุดระยะถอยหลังของวิหารในวัดโพธิ์ครับ หากใครเคยไปก็คงจะรู้ว่าตรงนี้มีพื้นที่ไม่มากมายนัก เมื่อถอยจนสุด (ประมาณสักเมตรเศษๆ) ระยะ 15mm ก็สามารถเก็บพระบาทได้ครบทุกส่วน และยังมีพื้นที่รอบข้างให้ภาพไม่ดูอึดอัดจนเกินไปด้วย

16_PHOTO_8

และก็ตามประสาครับ สมัยนี้เราเล่นภาพมุมกว้างแบบ “ชัดตื้น” กันจนเป็นเรื่องปกติ ใช่ว่าจะใช้แต่ชัดลึกเพียงอย่างเดียวนี่นะ ก็จัดชัดตื้นกันไปซะหน่อย แน่นอนครับว่ากลั้นใจใช้มือเปล่าเหมือนเดิม

17_PHOTO_9

และก็เรื่องสำคัญที่หลายท่านจับตารอดูอยู่ นั่นก็คือ “ประกายแฉก” เมื่อใช้กับรูรับแสงแคบว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร? ก็ต้องบอกว่าน่าประทับใจครับ ถึงแม้ว่ามันจะไม่แหลมปิ๊งเหมือนเลนส์รุ่นแพงๆ จากค่ายอื่น แต่ก็ไม่แตกบานปลายออกไป ยังคงลักษณะทรงแหลมเอาไว้ได้อย่างสวยงาม

CityScape_5

 

• ระดับความคมชัดกับรูรับแสง

เป็นเรื่องปกติครับที่ในแต่ละระดับรูรับแสงนั้นเลนส์จะให้ความคมชัดไม่เท่ากันให้พอสังเกตได้ เรามาดูกันครับว่าเลนส์ตัวนี้ชัดสุดที่ F เท่าไหร่?

14_PHOTO_7

จะสังเกตได้ว่าระดับความคมชัดสูงสุดนั้นเริ่มว่ากันที่ F/2.8 เป็นต้นไปจนถึง F/5.6 และจะค่อยๆ ลดลง ดังนั้นจากการทดสอบของผมก็จะเห็นว่า “F/8″ อันเป็นที่นิยมนั้นไม่ใช่จุดที่คมที่สุดของเลนส์รุ่นนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นข้อดีในแง่ที่ใช้ F กว้างๆ ได้แสงเยอะๆ ภาพก็ยังคม แสดงว่าใช้ในสถานการณ์แสงน้อยได้ไม่เลวเลยครับ

• สรุป

ถือว่าเป็นเลนส์ดีอีกรุ่นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งครับ ประสิทธิภาพขนาดนี้พร้อมออพชั่นแบบจัดเต็มโดยที่ยังไม่มีใครจัดระบบกันสั่นมาให้ด้วย ก็ต้องถือว่ามันน่าสนใจมากเพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการบันทึกภาพให้มากขึ้นอีก โดยเฉพาะบรรดามืออาชีพที่ต้องถ่ายภาพในสภาพแสงไม่มากนักอยู่เป็นประจำอย่างพวกงานเลี้ยงงานพิธีต่างๆ หรือผู้ที่บันทึกวีดีโอด้วย DSLR ระบบกันสั่นก็จะช่วยได้เยอะเลยทีเดียว

สีสันความคมชัดรวมไปถึงคอนทราสต์ก็ทำได้น่าประทับใจ ถ่ายทอดรายละเอียดได้ดีมาก แต่ที่คุณควรจะต้องระวังสักหน่อยก็คือเรื่องของหน้าเลนส์ที่มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งอื่นได้ง่ายโดยที่ไม่มีอะไรป้องกันมากไปกว่าฮูดในตัว ซึ่งก็ถือว่าดีที่มีการเคลือบผิวแบบฟูลออไรด์มาให้ด้วย ส่วนเรื่องฟิลเตอร์นั้นก็คงจะต้องรอไปอีกสักระยะ คาดว่าในอนาคตก็คงจะมีผู้ผลิตอะไรแนวๆ นี้ออกมาขายกันแน่ เพราะเท่าที่เห็นอยู่ ณ ขณะนี้อย่างน้อยก็มีเลนส์สามรุ่นแล้วที่มีลักษณะหน้าเลนส์โค้งแบบนี้ นั่นก็คือรุ่นนี้ของ TAMRON, 14-24mm ของ Nikon และล่าสุดกับ EF11-24mmL ของ Canon ซึ่งอีกไม่นานก็คงจะได้มีออกมาให้ซื้อหาไปใช้งานกันแน่นอน

และถ้ามันเล็กลงและเบากว่านี้ได้อีกสักหน่อยก็น่าจะดีครับ เพราะเรื่องประสิทธิภาพนั้นเป็นที่หายห่วงอยู่แล้วล่ะ ใช้งานได้ตั้งแต่แบบสบายๆ ไปจนถึงระดับมืออาชีพกันเลยทีเดียว หาสตางค์เข้ากระเป๋าได้อีกเยอะ

การจับถือนั้นออกจะใหญ่ไปสักนิดนึงสำหรับคนมือเล็กอย่างผม ถ้าเป็นรูปร่างขนาดฝรั่งหรือคนไทยตัวโตๆ ก็คงจะกระชับมือสบายๆ แต่ก็ไม่ถึงกับลำบากลำบนอะไรสำหรับตัวผมเอง เว้นเสียแต่มักจะวางนิ้วไปโดนผิวโค้งๆ ของเลนส์ชิ้นหน้าให้เปรอะเป็นริ้วลายนี่แหละครับ

MAIN
ถือว่าไม่เลวเลยเชียวครับสำหรับเลนส์รุ่นนี้ของ TAMRON ซึ่งก็ได้ข่าวว่าล็อตแรกที่นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยนั้นหมดไปอย่างรวดเร็วทั้งที่ของยังมาไม่ถึงแผ่นดินกันเลย เพราะหลายคนก็คงจะพอเดาได้ล่ะว่าประสิทธิภาพของ TAMRON ในยุคใหม่นี้เป็นอย่างไร ซึ่งก็ขึ้นชื่อในเรื่องความคุ้มค่าและราคาต่อหน่วยที่ช่วยให้ตัดสินใจไม่ยากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำว่าให้คุณไปลองของจริงเสียก่อน นำกล้องของคุณไปด้วย เพราะข้อดีของผมอาจจะเป็นข้อด้อยของคุณ แต่ข้อดีของคุณอาจจะเป็นข้อด้อยของผมก็ได้ ลองด้วยตัวเองให้รู้แจ้งเห็นจริงกันก่อนครับ

A012 เปิดตัวมาที่ราคาแถวๆ 36,xxx บาท ซึ่งถือว่าเป็นเลนส์ F/2.8 ที่ราคาเร้าใจเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมเช็คราคากับตัวแทนใกล้บ้านกันดูให้แน่ใจอีกครั้งครับ

เลนส์ประสิทธิภาพแบบ F2.8 แต่ราคาแบบ F4 แบบนี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่มันจะหมดไปทันทีโดยไม่ทันได้วางขายถึงหน้าร้านในโอกาสแรกที่มาถึง ปรากฏการณ์นี้ TAMRON มีให้เห็นมาหลายครั้งแล้วครับ ช้าไปก็สงสัยว่าจะต้องรอกันนั่นแหละ

…คิดใหม่ได้แล้วครับ เลนส์ค่ายอิสระไม่ใช่เป็นตัวเลือกเพียงแค่ราคาถูกอีกต่อไปแล้วนะ.

ปิยะฉัตร แกหลง
มีนาคม 2558

ขอบคุณ บริษัท อิสท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ตัวแทนจำหน่าย TAMRON อย่างเป็นทางการในประเทศไทย สำหรับเลนส์ทดสอบ

 

 

Comments

comments

You may also like...