XT Review : Canon EOS 7D Mark II “King of APS-C” มีดีแค่ไหน…คงไม่ใช่แค่เจ็ดหรอกมั้ง?

 

DSLR ขนาด APS-C ที่เร็วที่สุดในขณะนี้ ด้วยพละกำลังอันแข็งแกร่งและระดับสเปคอันน่าตื่นตา แต่ความไวไฟแลปของมันนั้นจะเอาชนะใจคุณได้หรือไม่? ลองมาติดตามดูกันในรีวิวจากการใช้งานจริงนานนับเดือนต่อไปนี้กันเลย!

MAIN_2

ทันทีที่ได้รู้ราคาเปิดตัวในบ้านเราของ“King of APS-C” รุ่นนี้ผมนี่ยืนขึ้นเลยครับ ไม่รู้ว่า Canon ไปกินดีหมีหัวใจเสือมาจากไหนถึงส่งราคาขึ้นไปสูงกว่ารุ่นพี่อย่าง EOS 7D รุ่นแรกตั้งหมื่นกว่าบาท!

แน่นอนว่าประสิทธิภาพอันเร็วเป็นจรวดของมันนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดูน่าตื่นเต้นสำหรับผู้เฝ้ารอ แต่สินสอดทองหมั้นที่จะใช้ในการสู่ขอย่อมจะเป็นประเด็นสำคัญยิ่งไปกว่า เมื่อเปิดตัวมาด้วยสนนราคาหกหมื่นกว่าบาทก็มีอันทำให้หลายท่านได้แต่ทำใจ บางท่านก็กัดฟันให้สูงขึ้นเพื่อไปหากล้องรุ่นโตกว่าอย่าง EOS 5D Mark III หรือยอมถอยลงไปหา Full Frame รุ่นเล็กอย่าง EOS 6D แทนเพื่อรักษาอาการอกหักจากสินสอดดังว่า ในขณะที่บางท่านก็ถึงกับขนของย้ายบ้านย้ายช่องกันไปเลยทีเดียว

อะไรทำให้มันแพงขนาดนี้?

ผมเองก็เป็นอีกคนที่เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อสำหรับกล้องที่ทำงานเร็วเป็นจักรผันเช่นนี้ เพราะลำพังกล้องที่ใช้งานอยู่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการอันเหลือล้นทางด้านความเร็วให้ได้ ในขณะที่ก็ยังไม่กล้าพรวดพราดปีนสูงขึ้นไปหากล้องซึ่งเป็นเรือธงของค่ายอย่าง EOS 1DX เพราะค่าตัวของกล้องเทพรุ่นนี้สามารถซื้อ EOS 7D Mark II ได้สามครั้ง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้คิดหนักอยู่เหมือนกัน

ในที่สุดราคาก็ยังเป็นคงตัวดำเนินเกมส์อยู่เสมอ

แต่แล้วในตอนจบของเรื่องผมก็ตัดสินใจสอยกล้องรุ่นนี้มาเป็นของตัวเองเพื่อทั้งใช้งานและทดสอบจากการใช้จริงจนกว่าจะพอใจ ดังนั้นสิ่งที่คุณจะได้ผ่านสายตาต่อไปนี้ก็คือกล้องที่ออกจากร้านเหมือนที่คุณซื้อ ไม่มีการทำพิเศษหรือผ่านอะไรมาอย่างสมบุกสมบัน และไม่ต้องรีบทำรีบส่งคืน ลองของกันเต็มๆยาวๆให้รู้เรื่องไปเลย

หลายท่านถามผมว่ามันคุ้มมั๊ยถ้าจะซื้อ? ผมคงตอบให้คุณฟังไม่ได้หรอกเพราะวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้งานของเราคงจะไม่เหมือนกัน กล้องราคาเรือนแสนเรือนล้านถ้ามันทำเงินได้หรือเป็นความพอใจเราก็เห็นว่ามันคุ้ม แต่กล้องเรือนหมื่นต้นๆ เราอาจจะเห็นว่าไม่คุ้มก็ได้ถ้าทำให้พอใจไม่ได้

ต่อให้กล้องตัวนี้จะแพงแต่ถ้าทำให้พอใจได้มันก็คุ้มจริงไหม?

ดังนั้นคุณต้องตัดสินเอาเองครับ

• ภายนอก

บอกกันตามตรงครับว่าอันที่จริงแล้วผมเองไม่ค่อยจะชอบรูปโฉมภายนอกของกล้องจากค่ายนี้สักเท่าไหร่นัก มันไม่ได้แย่แต่ดูอ้อนแอ้นกลมกลึงไปหน่อย เหลี่ยมมุมอันแสดงถึงความแข็งแกร่งก็มีอยู่น้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องของการจัดวางตำแหน่งของปุ่มควบคุมทั้งหลายแล้วผมจะชอบมากเป็นพิเศษ (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผมคุ้นเคยก็เป็นได้) โดยเฉพาะกับกล้องรุ่นนี้ที่ต้องบอกตามตรงว่ามัน ใช่เลย

5

ใช่เลยอะไร? มันก็เหมือนเดิมนั่นแหละคุณอาจจะคิดแบบนี้ ที่ผมว่าใช่เลยก็เพราะตรงกับความจำเป็นในการใช้งานตามคาแรคเตอร์ของมัน ถ้าคุณถ่ายภาพแบบทั่วไปก็คงจะไม่เห็นผลอะไรสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นประเภทที่ไม่ควรจะถอนสายตาออกจากช่องมองภาพอย่างการจับจังหวะกีฬา เหตุการณ์สำคัญ หรือภาพนกภาพสัตว์ป่าที่ต้องว่ากันในระดับเสี้ยวของเสี้ยววินาที การใช้นิ้วปัดป่ายไปกดเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ได้โดยที่ไม่ต้องละสายตาจากช่องมองภาพถือเป็นเรื่องสำคัญมากเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างว่าคุณกำลังส่องนกตัวหนึ่งอยู่ ซึ่งมันเป็นนกที่นานๆ ครั้งจึงจะปรากฏกายให้มนุษยชาติเห็น คุณก็คงไม่อยากจะพลาดโอกาสแน่ๆใช่ไหมล่ะครับ? แต่ทีนี้คุณอยากจะเพิ่มค่า ISO ให้สูงขึ้นอีกสักหน่อยเพื่อความชัวร์ การที่คุณจะถอนสายตาออกเพื่อไปมองหาปุ่มที่ว่านั้นก็อาจะได้ปรับค่าที่ต้องการได้สมใจนึก แต่เมื่อกลับมาส่องในช่องมองภาพใหม่อีกทีก็ปรากฏว่าเจ้านกแรร์ไอเท็มตัวนั้นได้สาบสูญหายลับไปแล้วเรียบร้อย จะไปบังคับบัญชาอะไรมันก็ไม่ได้เสียด้วย น่าเจ็บใจไหมล่ะ?

จะดีแค่ไหนที่คุณสามารถจัดการปรับค่านู่นนี่นั่นได้เลยโดยที่ยังจับตาดูมันได้ทุกระยะ? เรื่องนี้สำคัญเป็นอย่างมากซึ่งคนในวงการนี้เข้าใจดี หากคุณไม่เคยเจอประสบการณ์แบบนี้ก็คงจะนึกภาพไม่ออก

มันคล้ายกับการที่คุณสามารถทำอะไรได้หลายอย่างโดยที่ไม่ต้องปล่อยมือไปจากพวงมาลัย ไม่ต้องละสายตาไปจากท้องถนนตรงหน้าในขณะที่ขับรถด้วยความเร็วสูงนั่นแหละ

6

Canon จัดการเพิ่มปุ่ม…(อันที่จริงมันอาจจะเรียกว่าคันโยก) ขึ้นมาด้านหลังอีกหนึ่งชุดซึ่งเรียกว่า “AF Area Select Lever” เพื่อทำการปรับเลือกตำแหน่ง/จุดโฟกัส คุณเพียงแค่สอดนิ้วโป้งเข้าไปแล้วโยกมันลง จุดเซนเซอร์ออโตโฟกัสก็จะเปลี่ยนไปตามลำดับขั้นของมันจากกลางจุดเดียว/ไปเป็นกลุ่มกลาง/ช่วงกลาง หรือทั้งหมด แล้วก็วนกลับมาที่จุดกลางอีกครั้งสุดแต่ที่คุณจะพอใจ แน่นอนว่าสามารถจะทำมันได้โดยที่ไม่ต้องละสายตาไปจากช่องมองภาพ ซึ่งมันก็จะแสดงผลการปรับเปลี่ยนให้เห็นตรงนั้นเลย (แต่แอบสงสัยว่าทำไมไม่ทำให้โยกขึ้นเพื่อย้อนกลับได้ด้วย? อุตส่าห์โยกได้ทั้งทีแล้ว)

และตรงกลางคันโยกนั้นก็จะเป็นอีกปุ่มให้คุณใช้เพื่อเลื่อนตำแหน่งจุดเซนเซอร์ด้วยนิ้วโป้ง เจ้าชุดปุ่มนี้แหละครับที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญเพราะคุณสามารถทำมันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตัวแบบของคุณในจังหวะแรกอาจจะเหมาะกับการจับโฟกัสแบบเฉพาะจุด แต่ในทันทีนั้นมันอาจจะเคลื่อนตัวซึ่งจะเหมาะกับจุดโฟกัสแบบกลุ่มมากกว่า นั่นละครับ คุณสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องละสายตาไปจากมัน ถ้าคุณใช้เลนส์เทเลโฟโต้ (หรือซูเปอร์เทเลโฟโต้) ก็จะเข้าใจละว่ากว่าจะหาตัวแบบเจอในระยะไกลนั้นมันยากเย็นขนาดไหน ดังนั้นถ้าต้องละสายตาเพื่อไปปรับโน่นนี่ก็อาจจะเหลือแค่กิ่งไม้หรือความว่างเปล่าให้คุณถ่ายเล่นด้วยความเซ็งแทน

คุณจะไม่อยากจะคลาดสายตาหรอก เชื่อสิ

อันนี้ต้องยกให้เป็นความดีความชอบอันเต็มไปด้วยอรรถประโยชน์และเพิ่มโอกาสได้ภาพในวินาทีสำคัญให้กับคุณได้เลยทีเดียว

คุณรู้จัก “Paddle Shift” ไหมล่ะ? ที่มันเปลี่ยนเกียร์ตรงหลังพวงมาลัยได้นั่นล่ะ ไม่ต้องละมือไปโยกคันเกียร์ให้เสียอารมณ์ยังไงยังงั้นเลย

7

หรือจะเอาอีก? มีปุ่มซึ่งเป็นตุ่มเล็กๆ ใกล้ปุ่มชัตเตอร์ที่เรียกว่า “M-Fn” ซึ่งตัวนั้นก็ใช้ในการสลับกลุ่มเซนเซอร์ออโต้โฟกัสได้เหมือนกัน ตรงนั้นแหละเรียกว่าชั่วลัดนิ้วได้อย่างเต็มปากเพราะมันอยู่ใกล้จริงๆ

เอาละ คุณเชื่อไหมละว่าเรามักจะไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของสี่-ห้าปุ่มที่มันเรียงอยู่ตรงแถวๆ จอด้านบนตามสไตล์กล้องของ Canon หรอก แต่ก็อย่างที่บอกครับว่าคุณจะไม่อยากละสายตาไปจากช่องมองภาพ ถ้าฝึกให้คุ้นเคยละก็จะสามารถปาดนิ้วชี้ที่ใช้กดชัตเตอร์มาที่ปุ่มแถวนี้ได้ ซึ่งมันก็อุดมไปด้วยชุดคำสั่งที่ต้องการโดยเฉพาะปุ่ม “Drive/AF” อันจะทำการเลือกสลับระหว่างระบบโฟกัสธรรมดาและแบบติดตามซึ่งจะเป็นอะไรที่ใช้บ่อยเพื่อเลือกสลับแบบถ่ายชอตเดียวกับแบบยิงรัว ถือว่ามีประโยชน์มากเลยทีเดียว

8

อีกปุ่มก็คือ “ISO” ซึ่งที่ตัวปุ่มจะทำหลุมยุบสัมผัสพิเศษต่างออกไปให้รู้สึกได้ ซึ่งก็ช่วยให้คุณปรับค่า ISO ได้โดยที่ไม่ต้องละสายตาจากเหยื่อของคุณได้เช่นกัน

ISO เนี่ยนะ? จะปรับให้มันดีๆ เท่ๆ หน่อยไม่ได้หรือไง? บางจังหวะคุณก็ต้องการสปีดชัตเตอร์สูงๆโดยการดันค่า ISO ขึ้นมาช่วยครับ ซึ่งถ้าละสายตาไปก็มีโอกาสสูงที่จะได้ถ่ายแห้วแทนอยู่เหมือนกัน

ย้ำอีกครั้งครับว่าคุณจะไม่อยากคลาดสายตาหรอก

ดังนั้นถ้าหากตัดสินใจยัดเยียดความเป็นเจ้าของให้กับเจ้าเทพสายฟ้าตัวนี้แล้ว นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่คุณต้องพยายามฝึกให้คล่องเอาไว้ คุณคงไม่อยากยิงปืนโดยที่ต้องละสายตาจากเป้าเพื่อมองหาไกปืนใช่ไหมล่ะ?

…เรื่องนี้เอาไปห้าดาว

วัสดุภายนอกก็ดูโอเคตามมาตรฐานของกล้องระดับกลางขึ้นบนของ Canon ตัวมันก็แข็งแกร่งถึกทนด้วยวัสดุแมกนีเซียม เห็นว่าภายใต้เรือนร่างของเจ้านี่มีการเพิ่ม ซีลตามช่องช้อยรอยต่อให้มากขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับ EOS 7D รุ่นแรก นัยว่าโลโก้ “Mark II” ของเจ้าตัวนี้สามารถรับมือกับสภาพบุกตะลุยได้ดีกว่าเดิมซึ่งมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะส่วนใหญ่มักจะใช้กันในสภาพหฤโหด ขืนมาทำกระหม่อมบางอยู่ก็คงไม่ต้องไปถ่ายอะไรที่มันไกลบ้านกันล่ะ

แต่ก็คงไม่ถึงกับบุกน้ำลุยไฟเหนือฟ้าใต้บาดาลกันหรอกนะ อย่าได้คิดจับมันกดน้ำซะทีเดียว ผมเชื่อว่าประมาณกลางสายฝนมันก็ยังไหว แต่ในเมื่อทางแบรนด์เองก็ไม่ได้ออกมาเชิดชูขนาดนั้นเพราะปัจจัยเงื่อนไขก็ย่อมจะแตกต่างกันออกไป เดี๋ยวก็ได้ระงมกันทั้งโลกเพราะกล้องพังจากความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นก็เป็นอันรู้กันว่ามันอึดและทรหดอดทนในระดับหนึ่งก็แล้วกัน

อ้อ! แล้วก็ไม่ต้องเอาไปตอกตะปูล่ะ นี่มันกล้องนะไม่ใช่ฆ้อน

และแล้วกิเลสของมนุษย์ก็ย่อมจะไม่สิ้นสุด เพราะผมอยากจะให้มีปุ่มตรงข้างเม้าท์แปลนอีกสักปุ่มก็ยังดีเพื่อกำหนดหน้าที่ต่างๆให้มันได้แค่เราใช้นิ้วกลางหรือนิ้วนางที่จับกริบอยู่นั่นเอื้อมไปแตะมัน (คล้ายกับในกล้องรุ่นใหญ่ขึ้นไป) ก็จะดีมาก ซึ่งถ้ามีปุ่มดังว่าผมก็จะขอให้มันทำหน้าที่เป็นเหมือน “Drive/AF” เหมือนกับปุ่มบนนั่นแหละแต่มันจะสะดวกกว่ามากในเรื่องของตำแหน่งที่ตั้งอันควร

9

แต่ที่จะติสักหน่อยก็คือผมรู้สึกว่า “Ergonomic” หรือการออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ของมนุษย์สำหรับกริบมือจับยังไม่เหมาะสมกับคาแรคเตอร์ของกล้องตัวนี้สักเท่าไหร่นัก ในการใช้งานทั่วไปมันก็คงจะเหมาะสมดีอยู่หรอก แต่ในภาวะที่คุณต้องแช่นิ้วชี้อยู่ที่ปุ่มชัตเตอร์นานๆ จะส่งผลให้นิ้วกลางค่อนข้างปวดครับ ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองหยิบกล้องขึ้นมาแล้วจับในลักษณะพร้อมถ่ายภาพโดยแช่โฟกัสครึ่งทางเอาไว้ในสภาพนั้น จะทำให้กล้ามเนื้อของโคนนิ้วกลางเกิดความเครียดสะสมได้เยอะเลยทีเดียว ซึ่งถ้าคุณต้องอยู่ในลักษณะนี้นานๆ (เพราะจะมันส์ในการถ่ายภาพมาก) มันก็จะแสดงผลในวันถัดไปให้เห็น

ฝากไว้ให้Canon ไปคิดเป็นการบ้านนะครับ

• ภายใน

ผมคงไม่ได้จะมาแกะแงะงัดกันให้ดูหรอกว่าเจ้านี่มีไส้อยู่กี่ขด แต่ที่เห็นๆ กันเลยก็คือ มันมีช่องใส่การ์ดหน่วยความจำมาให้สองช่อง หนึ่งนั้นเป็นแบบ CF ส่วนอีกหนึ่งก็เป็นแบบ SD ซึ่งมันสามารถกำหนดหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่น บันทึกลงการ์ดหนึ่งแล้วให้สำรองลงอีกการ์ดหนึ่งเป็นต้น อันนี้บรรดามืออาชีพจะชอบมาก คุณเคยเห็นสีหน้าของช่างภาพที่พบว่าการ์ดเสียและข้อมูลภาพที่ถ่ายมาทั้งงานหายวับไปกับตาไหมล่ะ? ทีนี้ก็ค่อยเบาใจหน่อยที่ยังมีอีกการ์ดสำรองเอาไว้

11

แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ซึ่งก็ต้องขอบคุณที่มีมาให้ เอาไปห้าดาวอีกเหมือนกัน

• Intelligent View Finder

อันนี้ถ้าไม่มีมาให้จะเคืองมาก เพราะใช้แล้วติดใจจริงๆ

มันก็คือช่องมองภาพที่ครอบคลุมพื้นที่ภาพ 100% สว่างสดใสได้ใจ แต่ที่เปลี่ยนไปก็คือจะแสดงนู่นนี่นั่นเพื่อคุยกับคุณได้เยอะแยะไปหมด จำที่ผมบอกเรื่องที่คุณไม่อยากจะคลาดสายตาจากช่องมองภาพได้ไหมล่ะครับ? เชื่อเถอะว่าถึงจะเป็นอย่างนั้นคุณก็ไม่อยากจะเดาหรอกว่า ที่ปาดนิ้วปรับนู่นนี่นั่นน่ะมันเปลี่ยนไปเป็นแบบไหนแล้ว ช่องมองภาพตัวใหม่นี้จะแสดงให้คุณเห็นเลยว่าเลือกอะไรเอาไว้ แล้วที่กดๆ หมุนๆ โยกๆ อยู่นั่นน่ะมันเปลี่ยนไปเป็นอะไรแล้ว ซึ่งก็จะทำให้คุณรู้โดยที่ไม่ต้องถอนสายตาไปจากช่องมองภาพดังว่า ยกตัวอย่างเช่นเมื่อกดที่ปุ่ม Drive/AF มันก็จะขึ้นมาให้เห็นว่าขณะนี้ระบบทั้งสองถูกกำหนดไว้ที่อะไร และเมื่อเลื่อนเปลี่ยนแล้วจะเป็นอะไร ทั้งหมดนี้ทำได้โดยไม่ต้องละสายตาออกมาแต่อย่างใดเลย นี่แหละครับที่ผมบอกว่าถ้าไม่มีมาให้ก็จะเคืองมากถึงมากที่สุด

10

…และขอบอกว่าแม้แต่ EOS 1DX ก็ยังไม่มี อันนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ซึ่งน่าเชิดชูจริงๆ

เมื่อใช้ตัวนี้จนเห็นชินตามันก็ทำให้เราถ่ายภาพได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น คุณจะได้ภาพในจังหวะเด็ดๆ มากขึ้นไม่ต้องละสายตาไปจากตรงหน้าสาดโค้งได้อย่างมั่นใจขอโทษทีนอกเรื่องไปนิด

เมื่อผมสลับกลับมาใช้ EOS 70D ที่ถือครองอยู่ โอ้ว! กล้องตัวนี้ไม่คุยกับเราเพราะ 70D ไม่ได้มีช่องมองภาพอันชาญฉลาดแบบเจ้านั่น แหม่จะอวยกันมากไปมั๊ยละนี่? ก็ว่ากันไปตามชื่อเรียกของเขานั่นละนะแต่มันคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงครับ ความสะดวกรวดเร็วลดลงไปเยอะเลยทีเดียว แน่ละครับว่ามาทีหลังทั้งทีแต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยก็กระไรอยู่ ถ้าคุณแค่ไปลองที่ร้านก็จะไม่ทันได้สัมผัสฟิลลิ่งนี้จริงๆ หรอกครับ จนกว่าจะใช้ไปสักระยะหนึ่งนั่นแหละ

สเกลวัดแสงถูกย้ายไปเป็นแนวตั้งทางด้านข้าง คุณอาจจะสับสนนิดหน่อยตอนใช้งานในช่วงแรกๆ แต่สักพักก็จะชินไปเอง

เอาไปห้าดาวอยู่ดี

Shutter

ส่วนนี้คือสิ่งที่เป็นอีกหนึ่งในราคาบาดใจของมัน เพราะความเร็วในการรัวชัตเตอร์ได้ราวกับจักรเย็บผ้านี้รับรองว่าระบบชัตเตอร์ธรรมดาจะต้องเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรแน่ๆ

ระบบชัตเตอร์จะรวมไปถึงตัวกระจกสะท้อนภาพด้วยครับ เวลาที่เรากดถ่ายภาพชุดกระจกสะท้อนภาพก็จะถูกยกตัวขึ้นไป ม่านชัตเตอร์ชุดแรกจะเปิดลงมา จากนั้นม่านชัตเตอร์ชุดหลังก็จะปิดตามลงมาอีก และกระจกสะท้อนภาพก็จะลดลงมายังตำแหน่งเดิม ทีนี้เมื่อเราว่ากันที่ระดับ 10 ภาพต่อวินาทีก็ลองคิดดูครับว่ามันควรจะต้องแข็งแรงสักขนาดไหน? ดังนั้นทั้งหมดในส่วนนี้จึงต้องปรับปรุงกันมาใหม่หมดเพื่อให้มันแข็งแรงเป็นเฮอคิวลิสกันไปเลย

Canon การันตีชัตเตอร์ของกล้องรุ่นนี้เอาไว้ที่สองแสนครั้งครับ ดังนั้นคุณจึงสามารถกดมันเข้าไปได้อีกยาวนาน ยิ่งถ้าไม่ใช่มืออาชีพที่ต้องถ่ายกันเป็นหมื่นภาพต่อวันละก็ ความแข็งแรงของมันคงจะอยู่กับคุณไปได้อีกนานแสนนานเลยทีเดียว แต่โดยทั่วไปแล้วก็รู้สึกว่ามันจะมีอายุมากกว่าที่การันตีเอาไว้เสียอีกถ้าคุณใช้มันอย่างถูกวิธี

Processor & Buffer

แน่ละครับ ระดับความเร็วสูงเช่นนี้ย่อมต้องการระดับการประมวลผลขั้นสูง เพราะถ้าคุณถ่ายภาพได้เร็วจริงแต่ข้อมูลทั้งหมดถูกประมวลแบบอืดเป็นเรือเกลือ ในที่สุดมันก็จะค้างเป็นคอขวดจนถ่ายภาพต่อไม่ได้นั่นเอง  EOS 7D Mark II ใช้หน่วยประมวลผล DIGIC 6 แบบคู่ มันจึงค่อนข้างเร็วมากเพราะมีสองสมองช่วยกันคิดช่วยกันทำ

ข้อมูลภาพที่ถูกประมวลผลแล้วจะถูกส่งไปเก็บที่การ์ดหน่วยความจำของเราใช่ไหมล่ะครับ? แต่ยังก่อน เพราะก่อนที่มันจะพุ่งเข้าไปที่การ์ดนั้นมันจะถูกส่งไปพักเอาไว้ที่หน่วยความจำชั่วคราวอันเรียกกันว่า “Buffer” ซึ่งเจ้าตัวนี้จะมีความเร็วในการขนถ่ายข้อมูลในระดับสูงเหนือกว่าการ์ดหน่วยความจำหลายเท่า แต่มันก็เป็นหน่วยความจำที่ราคาแพงมาก ไม่เหมาะจะนำมาทำเป็นการ์ดหน่วยความจำโดยตรง ดังนั้นกล้องทุกตัวจะต้องมี Buffer เอาไว้รองรับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถูกส่งมาจาก Processor แล้วค่อยส่งต่อไปลงการ์ดหน่วยความจำ เพราะถ้าวิ่งไปที่การ์ดโดยตรงเลยมันก็จะอั้นกันอยู่ตรงนั้นซึ่งก็จะทำให้ถ่ายภาพต่อไปไม่ได้ จอดนิ่งสนิทกันไป

ดังนั้น Buffer จึงมีผลอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง เพราะถ้ามันมีพื้นที่ไม่มากพอ เมื่อข้อมูลถูกส่งเข้ามาหามันจนเต็มอิ่มแล้วก็จะส่งสัญญาณไปหา Processor ว่า เดี๋ยวๆ รอแป๊บ ข้อมูลเต็มแล้ว กำลังถ่ายลงการ์ดอยู่ ช้าลงหน่อย เมื่อเป็นแบบนี้ระบบของกล้องก็จะลดความเร็วลงเพราะเกิดการอั้นของข้อมูล ดังนั้นสเปคของกล้องก็จะบอกกับเราว่าสามารถถ่ายภาพได้ต่อเนื่องได้กี่ภาพติดต่อกัน ซึ่งมันก็เป็นผลมาจากลักษณะของ Buffer ที่ว่านี้นั่นเอง

EOS 7D Mark II เพิ่มระดับของ Buffer กระโดดขึ้นไปจากเดิมใน EOS 7D เวอร์ชั่นแรกชนิดผู้ซื้อยิ้มแป้นเลยทีเดียว เดิมที่บันทึกภาพแบบไฟล์ RAW จาก 25 ก็มาเป็น 31 ชอตต่อเนื่อง แต่สำหรับ JPEG แล้วมันช่างน่าตกใจเพราะจากที่เคยได้ต่อเนื่องติดต่อกัน 130 ชอต ก็กลายมาเป็น 1,090 ชอต!

ยิงให้ตายกันไปข้างนึงเลยทีเดียว

Auto Focus Sensor

นี่ละครับตัวเด็ดสำหรับกล้องที่ถ่ายภาพต่อเนื่องได้เร็วๆ ระบบโฟกัสอัตโนมัติควรจะต้องทำงานได้รวดเร็วตามกันไปด้วย เพราะต่อให้ถ่ายได้เร็วเป็นร้อยเฟรมต่อวินาทีแต่จับโฟกัสไม่ได้เลยก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้นมันต้องสัมพันธ์กันหน่อย

EOS 7D Mark II รุ่นนี้หากอ่านสเปคในเรื่องนี้แล้วต้องขอบอกว่ามันเทพชัดๆ เพราะนอกจากจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากรุ่นพี่อย่าง EOS 1DX และ EOS 5D Mark III แล้ว บางอย่างมันก็ยังทำได้เหนือกว่าด้วยซ้ำไป

โอ้โห พูดอย่างนี้สองรุ่นพี่ที่ว่าก็ไม่ต้องขายกันแล้วละสิ? ใจเย็นครับ เรื่องนี้ค่อนข้างแยบยลอยู่สักหน่อย เพราะมันค่อนข้างจะน่าตื่นเต้นก็จริงแต่บางสิ่งก็ยังมีเรื่องราวซับซ้อนซ่อนเงื่อนชนิดที่ดูผิวเผินแล้วรุ่นพี่ทั้งสองนั้นคงจะไม่ได้ผุดได้เกิดกันละ

เรื่องจริงมันเป็นอย่างนี้ครับ EOS 7D Mark II มีระบบเซนเซอร์ออโตโฟกัสชั้นเลิศจากรุ่นพี่ทั้งสองแถมบางเรื่องยังเจ๋งกว่าก็จริง แต่ความเก๋าของรุ่นพี่ก็ย่อมจะต้องมีเหนือกว่าในบางเรื่องอยู่แล้ว ซึ่งถ้าจับมาเปรียบเทียบกันก็จะเป็นเรื่องราวตามนี้ :

- EOS 7D Mark II มีจุดเซนเซอร์ออโตโฟกัสทั้งหมด 65 จุด เยอะกว่าที่มีอยู่ในทั้ง EOS 1DX และ 5D Mark III (ซึ่งมีอยู่ 61 จุด) แถมยังมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ภาพมากกว่าด้วย ดังนั้นข้อนี้ EOS 7D Mark II ย่อมชนะเลิศเห็นๆ

AutoFocusSensor

- เซนเซอร์แบบ Cross-type เป็นอีกสิ่งที่ดูอลังการมาก ซึ่งทั้งหมด 65 จุดของ EOS 7D Mark II นั้นเป็นชนิดนี้ทั้งหมด สามารถใช้ประโยชน์ได้จากเลนส์ F/5.6 ซึ่งหมายความว่ามันจะจับโฟกัสได้รวดเร็วแม่นยำ แต่ที่จะยิ่งแม่นยำไปกว่าก็คือจุดเซนเซอร์ชนิด “Dual Cross-type” ซึ่งใช้ประโยชน์สูงสุดได้จากเลนส์ F/2.8 นั้นจะเป็นแบบ “High Precision” หมายความว่า หากคุณใช้เลนส์ F/2.8 หรือสว่างกว่าร่วมกับเซนเซอร์ชนิดนี้มันก็จะยิ่งแม่นยำรวดเร็วฉับไวปานสายฟ้าแลปเลยทีเดียว ในขณะที่ Cross-type แบบปกตินั้นไม่ว่าจะเป็น F/5.6 หรือ F/2.8 มันก็ให้ความเร็วในระดับเดียวกัน คือยังช้ากว่าแบบ Dual Cross-type อยู่ดี

EOS 7D Mark II มี Dual Cross-type อยู่ที่จุดกลางหนึ่งจุด ในขณะที่ EOS 1DX และ EOS 5D Mark III มีเรียงอยู่ที่กลางภาพในแนวตั้งทั้งหมด 5 จุด ดังนั้นถ้าวัดกันด้วย Dual Cross-type ละก็ รุ่นพี่ทั้งสองก็ยังคงเก๋ากว่า แต่ต้องใช้เลนส์ที่เก๋าพอกันที่ F/2.8 ด้วยนะ

AF_2

นอกจากนี้รุ่นพี่ระดับเทพทั้งสองก็ยังคงมีจุดเซนเซอร์ชนิด Cross-type แบบ High-precision ที่สามารถตอบสนองต่อเลนส์ F/4 อยู่ในแนวด้านข้างถึง 20 จุด แต่ EOS 7D Mark II ไม่มีเลย ยกตัวอย่างเช่น หากคุณนำเลนส์ EF 200-400mm F4L IS USM มาใช้งาน EOS 1DX และ EOS 5D Mark III ก็จะไวต่อการจับโฟกัสได้มากกว่า แต่ถ้าใช้เลนส์ F/5.6 มันก็จะไวพอๆ กัน

แต่ด้วยจำนวนจุดโฟกัสที่มากกว่าและครอบคลุมพื้นที่ซึ่งกว้างกว่าของ EOS 7D Mark II ก็จะทำให้มันได้เปรียบกว่าเมื่อใช้เลนส์ F/5.6 นั่นเอง

สรุปได้ว่า ในเรื่องของความเร็ว ถ้าคุณใช้เลนส์ EF ที่มีรูรับแสงกว้างสุด  F/5.6 มันก็จะเร็วพอๆ กัน แต่ถ้าเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด F/2.8 EOS 7D Mark II ก็จะแพ้รุ่นพี่ใหญ่ทั้งสองราบคาบ

- EOS 7D Mark II สามารถจับโฟกัสได้ในสภาพแสงปริมาณต่ำระดับ EV -3 ในโหมด One-Shot AF ในขณะที่รุ่นพี่ทั้งสองทำได้ที่ EV -2 ดังนั้นมันจึงได้เปรียบกว่า ระดับปริมาณแสงที่ว่าต่ำนี้คือขนาดไหน? ก็ลองนึกภาพการจับโฟกัสภายใต้แสงจันทร์ดูก็แล้วกัน ดังนั้นในเรื่องนี้ EOS 7D Mark II จึงได้เปรียบ อย่าเพิ่งรีบคิดว่าไม่เห็นจะจำเป็นเลย คุณลองนึกสภาพการถ่ายภาพในงานเลี้ยงในจังหวะที่มีเพียงแค่แสงเทียนดูก็ได้ครับ ผมเชื่อว่ามืออาชีพที่รับงานอีเว้นท์ต่างๆ ก็น่าจะเคยเจอประสบการณ์แบบนี้กันมาบ้างแล้วล่ะ…พูดง่ายๆ ก็คือ มันสามารถมองเห็นในที่แสงน้อยได้ดีกว่านั่นเอง

- กล้องทั้งสามรุ่นมีระบบการปรับตั้งความไวและการตอบสนองต่อการทำงานของเซนเซอร์ออโตโฟกัสในแบบเดียวกัน แต่ EOS 1DX สามารถปรับตั้งได้ละเอียดมากกว่า ดังนั้นเรือธงรุ่นพี่ใหญ่จึงเอารางวัลชนะเลิศไปครองในเรื่องนี้

ความสามารถในการขับเคลื่อนเลนส์ก็จะขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยจากตัวกล้อง โดยเฉพาะการใช้งานร่วมกับเลนส์ EF Super-Telephoto ดังนั้นทั้ง EOS 7D Mark II และ EOS 1DX จะทำได้ดีกว่าเพราะมันถูกออกแบบมาให้ทำงานทางด้านนี้โดยตรง

Canon ปล่อยระบบออโต้โฟกัสแบบ iTR AF (Intelligent Tracking & Recognition) มาพร้อมกับ EOS 1DX เป็นครั้งแรกในปี 2011 ซึ่งเป็นระบบที่ดึงความสามารถจากระบบวัดแสงแบบ RGB เพื่อมาช่วยตรวจจับใบหน้าและส่งข้อมูลทางด้านสีเข้าร่วมประกอบเป็นข้อมูลสำหรับระบบประมวลผลออโต้โฟกัส ซึ่งจะส่งผลเป็นอย่างมากสำหรับการจับโฟกัสแบบเคลื่อนไหวโดยขึ้นอยู่กับพื้นที่ของเซนเซอร์ออโต้โฟกัสที่กำลังทำงานอยู่ สำหรับ EOS 1DX นั้นมีความละเอียดสำหรับระบบนี้อยู่ที่ 100,000 พิกเซล ในขณะที่เวอร์ชั่นใหม่ซึ่งบรรจุอยู่ใน EOS 7D Mark II นั้นมีความละเอียดมากกว่าที่ 150,000 พิกเซล ดังนั้นมันจึงชนะเลิศไปในเรื่องนี้ ส่วน EOS 5D Mark III ไม่มีระบบดังกล่าว

EOS 1DX และ EOS 7D Mark II สามารถแสดงจุดที่กำลังจับโฟกัสในขณะโฟกัสแบบต่อเนื่อง (AI Servo) ได้ในช่องมองภาพ แต่ EOS 5D Mark III ไม่มีการแสดงผลในส่วนนี้

มีเพียง EOS 1DX เท่านั้นที่สามารถวัดแสงแบบ Spot ได้ที่จุดออโตโฟกัส

ดังนั้นโดยสรุปก็คือ EOS 7D Mark II ถูกถ่ายทอดข้อดีหลายอย่างมาจากรุ่นพี่ทั้งสองและบางอย่างก็ยังถูกพัฒนาให้ดีกว่าด้วยซ้ำ ยกเว้นเฉพาะเรื่องของจุดเซนเซอร์ชนิด High Precision ที่รุ่นพี่จะยังคงได้เปรียบกว่า จึงยังไม่อาจจะบอกได้ว่ามันเจ๋งกว่าตัวนี้ตัวโน้น ซึ่งอันที่จริงแล้วมันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การนำกล้องไปใช้งานต่างหากล่ะ

เรื่องราวอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนชิงรักหักสวาทเชิงออโต้โฟกัสร่วมค่ายก็เป็นด้วยประการฉะนี้

• AF Config. Tool

ระบบการควบคุมโฟกัสอัตโนมัติแบบละเอียดยิบเป็นสิ่งที่คุณจะได้เห็นในกล้องรุ่นนี้…

AFConfig

ที่ง่ายหน่อยก็จะอยู่ในเมนู AF แรกเลย…เช่นเดียวกับ EOS 1DX ครับ EOS 7D mark II มีระบบการปรับตั้งระบบการทำงานออโตโฟกัสให้เหมาะกับสถานการณ์แต่ละรูปแบบมาให้เลือกใช้ด้วย ท่านที่ไม่ค่อยคุ้นก็อาจจะตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกใช้อันไหนดี ก็ได้แต่เดาสุ่มทดลองกันไปตามภาพกราฟิกที่มีมาให้ดู อันนี้ผมจะยกตัวอย่างในกรณีการถ่ายภาพนกมาให้ดูครับว่าควรจะเลือกใช้อันไหนดี?

• Case 1: For subjects that change speed and move erratically : อันนี้เป็นค่าพื้นฐานทั่วไป ถ้าคุณไม่แน่ใจอะไรก็เลือกที่อันนี้เลย

Case 2: Continue to track subjects, ignoring possible obstacles : สำหรับการแทร็คโฟกัสเฉพาะตัวนกที่กำลังบินอยู่โดยไม่ต้องไปสนใจสิ่งอื่นๆ อย่างเช่นต้นไม้ที่อยู่ในฉากหลัง

• Case 3: Instantly focus on subjects suddenly entering AF points : ถ้ามีนกจำนวนมากอยู่ในเฟรม แต่คุณต้องการจับโฟกัสที่นกตัวที่อยู่ใกล้สุดก็ต้องใช้อันนี้เลย

• Case 4: For subjects that accelerate or decelerate quickly : ใช้ตัวเลือกนี้ในกรณีที่ระยะห่างระหว่างกล้องและนกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นในกรณีที่นกบินเข้าใกล้หรือออกห่างไปจากกล้อง

• Case 5: For erratic subjects moving quickly in any direction : สำหรับกรณีที่นกเกาะอยู่กับที่แล้วคุณรอจังหวะที่มันกำลังจะทะยานสู่อากาศ อันนี้ก็จะเหมาะที่สุด

• Case 6: For subjects that change speed and move erratically : ถ้าเจอนกตัวเล็กๆ ที่บินฉวัดเฉวียนไปมาอยู่ในอากาศชนิดจับทางไม่ถูกก็ต้องตัวเลือกนี้เลย

ยังมีการปรับตั้งอยู่ในเมนู AF นี้อีกเยอะแยะมากมายเชียวครับ นั่นแสดงว่ากล้องรุ่นนี้ใส่ใจกับระบบนี้มากเป็นพิเศษเลยทีเดียว

ถ้าคุณสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวอันสลับซับซ้อนเกี่ยวกับระบบออโตโฟกัสของ EOS 7D mark II ล่ะก็ ไปดาวน์โหลด “EOS 7D Mark II AF-Setting Guidingbook” มาดูได้จากลิ้งค์นี้ครับ

• Flicker!

ไม่ใช่ฟังก์ชั่นในการอัพโหลดภาพขึ้นไปที่เว็บสังคมคนถ่ายภาพชื่อดังนั่นหรอกครับ แต่อันนี้เป็นคุณสมบัติในการตรวจจับ “แสงกระพริบ” ในบริเวณที่คุณจะถ่ายภาพ หากมีคำว่า Flicker! ปรากฏขึ้นมาในช่องมองภาพละก็หมายความว่าให้คุณระมัดระวังให้ดี เพราะในการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องนั้นอาจจะเจอสภาวะที่แสงไม่เท่ากันหรือค่า Auto WB ไม่เท่ากันในภาพชุดนั้นได้

แสงกระพริบเหล่านี้ก็อย่างเช่นภายใต้แสงจากหลอกฟลูออเรสเซนท์นี่แหละครับ อันที่จริงแล้วมันมีการประพริบต่อเนื่องด้วยความรวดเร็วจนสายตาปกติของเราแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ระบบของ EOS 7D Mark II สามารถตรวจสอบจับได้และก็จะส่งข้อความกระซิบเตือนคุณก่อนว่าในการวัดแสงหรือ Auto WB ในแต่ละชอตนั้นอาจจะไม่เท่ากันได้นะ (เพราะขึ้นกับจังหวะกระพริบของแสงนั่นแหละ) ดังนั้นถ้าอยากจะให้มันแม่นยำคงที่ก็ต้องระบุค่า WB แบบตายตัวไปเลย หรือไม่ก็ใช้โหมด M ในการถ่ายภาพซะ แต่ถ้าคุณไม่ซีเรียสอะไรนักละก็เดี๋ยวกล้องจะจัดให้

แต่ถ้าเราถ่ายภาพภายใต้แสงอาทิตย์ละก็จะไม่มี Flicker เกิดขึ้นแต่อย่างใดเพราะมันไม่ได้กระพริบนั่นเอง

คุณภาพของภาพ

จะสุดยอดมาจากที่ใด ในที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องนี้ซึ่งจะเป็นข้อสรุปทุกอย่างว่ากระเป๋าตังค์ของเราจะสั่นไหวโยกคลอนได้มากมายขนาดไหน เพราะ คุณภาพของภาพคือทั้งหมดของคุณสมบัติประดามีที่ได้จากตัวกล้อง

EOS 7D Mark II ใช้เซนเซอร์รับภาพแบบ CMOS ความละเอียด 20.2MP ร่วมกับระบบประมวลผล DIGIC6 แบบคู่ ใช้ความไวแสงได้จาก ISO100-12800 และขยายได้ถึง 25600 ซึ่งหลายท่านแอบหวังเอาไว้ว่าขอให้มันทำได้ถึงระดับ EOS 5D Mark III หรือ EOS 6D ด้วยเถิด

อาจจะเป็นความหวังที่สูงส่งเกินจริง แต่มันก็ไม่ถึงกับไกลเกินเอื้อมเสียทีเดียว

เดิมทีนั้นหลายๆ ท่าน (รวมทั้งผมเองด้วย) อาจจะยังไม่ค่อยพอใจกับเรื่องของ “Noise” เมื่อใช้ ISO สูงๆ ใน EOS 7D เวอร์ชั่นแรกมากนัก เพราะดูเหมือนว่ามันจะมีเยอะแยะมากมายเกินเหตุ ช่วงหลังมานี้ Canon EOS สามารถแสดงฝีมือในเรื่องนี้ได้ดีมาก ดังนั้นหลายท่าน (รวมทั้งผมเองด้วยอีกนั่นแหละ) ก็หวังเอาไว้ว่ามันจะทำได้ดุจเดียวกัน

ผมนำมาเปรียบเทียบให้ดูครับ ระหว่าง EOS 7D Mark II และกล้องอีกสามรุ่นซึ่งก็คือ EOS 1DX, EOS 6D และ EOS 70D มาให้ดูว่ามันจะแตกต่างกันแค่ไหนอย่างไรบ้าง

ISO_Compare_100

ISO_Compare_400

ISO_Compare_800

ISO_Compare_1600

ISO_Compare_3200

ISO_Compare_6400

ISO_Compare_12800

…ทีนี้ก็ลองเทียบชั้นกับระดับเรือธงดูบ้าง

ISO_Compare_1DX_3200

ISO_Compare_1DX_6400

 

เท่าที่เห็นนี้ก็ดูเหมือนว่าแม้จะใช้เซนเซอร์รับภาพคนละตัวแต่ EOS 7D Mark II ก็จะทำผลงานออกมาในระดับใกล้เคียงกันกับ EOS 70D แต่เพิ่มสมรรถนะทางด้านความรวดเร็วขึ้นมา และก็จะยังคงแสดงอาการของ Noise ออกมาอยู่ดี แต่เดี๋ยวก่อนครับ Noise เองก็มีบุคลิกลักษณะอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะความร้อนขึ้นกันตะพึดตะพือแล้วกลายร่างเป็นจุดอันน่าเกลียดไปทั้งหมดเสียทีเดียว

12

ในความคิดของผมก็คือ EOS 7D Mark II ถูกออกแบบมาให้เป็นกล้องที่เร็วแรงแซงโค้ง เป้าหมายหลักก็น่าจะอยู่ที่พวกนักถ่ายภาพ Outdoor ทั้งหลายอย่างเช่นภาพกีฬา รถแข่ง นก สัตว์ป่า ฯลฯ ดังนั้นภาพก็ไม่ควรจะเนียนใสไร้สิวผุดผ่องเป็นยองใย แต่ควรจะต้องเฉียดไปทางดิบๆ สากๆ ตามลักษณะอารมณ์ของภาพเหล่านี้อยู่สักหน่อย ดังนั้น Noise ที่เห็นจึงยังไม่เข้าขั้นน่าเกลียด และในทางกลับกันมันยังช่วยให้ภาพดูคมเข้มดุดันมากขึ้นอีกหน่อยด้วย

แต่คงไม่ต้องเอาไปเปรียบเทียบกับพวก “Noise-free” อย่าง EOS 5D Mark III หรือ EOS 6D หรอกครับ เพราะกล้องรุ่นนั้นเป็นลักษณะเน้นเนียนใสเป็นใจความสำคัญ ดังนั้นกล้องแต่ละรุ่นก็จะมีคาแรคเตอร์เฉพาะในแบบฉบับของตัวเอง เรื่องนี้ฟันธงได้ค่อนข้างลำบากเพราะมันเป็นเรื่องความชอบของแต่ละบุคคล ประมาณว่าเหมือนรสชาติของอาหารนั่นแหละ คนนึงเห็นว่าอร่อยสุดยอดในขณะที่อีกคนอาจจะกระเดือกไม่ลงเลยก็เป็นได้ ลองเอา Blue Cheese ให้คนไทยกินดูสิ จากนั้นก็ลองเอาน้ำพริกปลาร้าให้ฝรั่งชิมดูบ้าง เป็นไงล่ะ อย่าว่างั้นงี้เลย ฝรั่งบางคนก็กระเดือก Blue Cheese ไม่ลงเหมือนกัน ในขณะที่คนไทยไม่น้อยก็ไม่สามารถอยู่ร่วมโลกกับน้ำพริกปลาร้าได้หรอก

อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่อยากให้คุณเชื่อภาพที่เห็นด้านบนนี้ร้อยเปอร์เซนต์หรอกครับ เพราะยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่เราไม่สามารถกำหนดได้ในการนำภาพขึ้นเว็บไซต์ อย่างเช่นระบบการบีบอัดไฟล์ภาพซ้ำอีกรอบหรือข้อมูลสีจากเซิร์ฟเวอร์ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเรื่องของจอภาพในแต่ละฝั่งของเราที่ก็ต่างกันอีก อันนี้แค่ให้ดูพอเป็นแนวทางเท่านั้นครับ

7DII_BIRD_7

 

7DII_BIRD_13

 

7DII_BIRD_25

 

7DII_BIRD_35

 

7DII_BIRD_59

 

7DII_Sun_3

 

7DII_Macro3

ความเห็นของผม

ผมใช้งาน EOS 7D Mark II เป็นเวลากว่าหลายเดือนก่อนที่จะเขียนรีวิวนี้ (นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงได้ช้านัก) เพราะอยากจะใช้มันให้ช่ำมือและรู้ดีรู้ชั่วกันไป อันไหนดีอันไหนเสียจะได้พูดกันเต็มเหนี่ยวไปเลย

ทุกครั้งที่กดรัวพรืดออกไปคนรอบข้างก็จะหันมาดูประมาณว่าตาคนนี้เอาจักรเย็บผ้ามาถ่ายภาพหรืออย่างไร? แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับโอกาสในการได้ภาพของเราหรอกครับ กล้องความเร็วสูงแบบนี้แน่นอนว่ามันเปลืองการ์ดชะมัด แต่ก็เพิ่มโอกาสในการได้ภาพเด็ดๆ ขึ้นมาอีกเยอะ ภาพบางอย่างที่ผมไม่เคยถ่ายได้ก็มาประสบความสำเร็จกับกล้องตัวนี้แหละ

ช่องมองภาพ Intelligent View Finder คือสิ่งที่ผมปลื้มมาก มันทำให้ผมเห็นประโยชน์ของการจัดเรียงปุ่มควบคุมเอาไว้ใกล้นิ้วชี้ซึ่งทำให้เราไม่ต้องละสายตาจากช่องมองภาพได้ แต่ถ้าช่องมองภาพไม่ได้บอกอะไรเราก็ต้องถอนสายตาออกมามองจอด้านบนอยู่ดี ซึ่งในเวลาที่ถ่ายภาพนกหรือภาพกีฬาแล้วมันสำคัญมากเลยทีเดียว

กล้องแบบนี้เอาไปถ่ายภาพแบบอื่นๆ ได้ไหม? ได้สิครับ ผลงานของมันก็ออกมาค่อนข้างดีเป็นปกติเหมือน DSLR อื่นๆ นั่นแหละ เพียงแต่ถ้าจะเอาไปเทียบความเนียนกับพวกตัวหัวหน้าอย่าง EOS 5D Mark III หรือ EOS 6D ซึ่งเน้นเรื่องนี้โดยเฉพาะก็คงจะไม่ได้หรอกครับ

7DII_Land_2

ความเร็วไฟแลปของมันนั่นแหละคือเหตุผลหลักหากคุณจะซื้อหากล้องตัวนี้ ระบบออโต้โฟกัสของมันก็เร็วแรงสมคำโฆษณา แต่อย่าไปคิดว่าทุกชอตทุกภาพต้องเข้าหมดล่ะ เพราะมันก็ยังมีปัจจัยอีกหลายๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่โดยภาพรวมแล้วต้องถือว่าดีมาก จับโฟกัสได้รวดเร็วว่องไวและค่อนข้างแม่นยำมาก โดยเฉพาะเวลาที่คุณเห็นจุดโฟกัสกระพริบอยู่ในช่องมองภาพพราวพรายในโหมด AI-Servo ที่ให้มันตามโฟกัสสิ่งเคลื่อนไหว มันจะดูราวกับเป็น EOS 1DX ย่อส่วนยังไงยังงั้นเลย

7DII_BIRD_54

สำหรับผมแล้วคะแนนโดยรวมถือว่าผ่านครับ ความเร็ว คุณภาพ ความทรหดบึกบึน เซนเซอร์ขนาด APS-C ที่ต้องคูณ 1.6 ยิ่งทำให้ได้นกขนาดใหญ่มากขึ้นในระยะห่างเดียวกัน ความคล่องตัวและรวดเร็วในการปรับตั้งค่าการใช้งานเป็นอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งเราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย ดังนั้นมันก็จัดว่าคุ้มราคาอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าคุณจะหากล้องที่เร็วอยู่ในระดับนี้ก็เห็นจะมีแค่ EOS 1DX ซึ่งต้องควักกระเป๋าเพิ่มอีกสามเท่านั่นแหละ

สรุป

สำหรับผู้ที่นิยมชมชอบการถ่ายภาพสิ่งที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วอย่างเช่น นก หรือภาพกีฬา ก็เห็นจะไม่ผิดหวังสำหรับความเร็วระดับ 10 ภาพต่อวินาทีที่จะช่วยคุณเก็บมาทุกจังหวะ และสำหรับผู้ที่ใช้ถ่ายภาพแบบอื่นๆ จังหวะภาพแจ๋วๆ ก็เป็นสิ่งอันหวังได้ อย่างเช่นคนถ่ายภาพงานอีเว้นท์ที่ต้องจับจังหวะสำคัญให้อยู่ การขยับปากกระพริบตาของบุคคลในภาพก็ล้วนเป็นสิ่งที่แปรกลับมาเป็นชื่อเสียงและเงินทองทั้งนั้น แต่คุณก็จะลดข้อผิดพลาดเหล่านั้นลงได้เพราะไม่มีทางที่ทั้ง 10 ภาพที่กดกลับมาจะไม่มีภาพที่เป็นจังหวะอันดูดีปะปนอยู่เลย หากคุณเคยประสบปัญหานี้ก็ลองตรองดู

แล้วสำหรับใช้งานทั่วไปถ่ายเล่นไม่เป็นจริงเป็นจังล่ะ? แนะนำให้ลองดูรุ่นอื่นก่อนครับ บางทีงบประมาณอาจจะไม่ใช่ปัญหาแต่คุณอาจจะไม่อยากจะจ่ายเกินความจำเป็น ซึ่งอันนี้ก็ต้องลองพิจารณากันดูดีๆ เราไม่ใช่จะเชียร์กันตะพึดตะพือเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องสนอะไร ใช้เงินให้คุ้มค่ากันดีกว่า

เลือก EOS 6D ไม่ดีกว่าหรือ ได้ Full Frame ด้วย? ก็ต้องอยู่ที่การนำไปใช้งานนั่นแหละครับ บอกแล้วว่ากล้องแต่ละตัวก็มีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง แน่ล่ะว่าถ้ามองที่ค่าเงินเพียงอย่างเดียวมันก็ย่อมจะแพงกว่าแน่ๆ แต่ถ้ามองภาพรวมโดยประสิทธิภาพคือหลักใหญ่ใจความมันก็ไม่ใช่อะไรที่จะเอามาเทียบกันชนิดหมัดต่อหมัดเพราะวัตถุประสงค์ในการใช้งานก็แตกต่างกันไปอย่างชัดเจน EOS 6D ได้ไฟล์ดีก็จริงแต่ก็ไม่เร็วเท่า ส่วน EOS 7D Mark II เร็วดีก็จริงแต่ไฟล์ไม่ดีเท่า นี่แหละครับ สุดแท้แต่ว่าคุณจะเลือกแบบไหน หากคุณเป็นคนถ่ายนกหรือช่างภาพกีฬาแต่ตัดสินมันจากค่าตัวก็คงไม่ค่อยตอบโจทย์ที่ตรงประเด็นแน่

MAIN_2

ดังนั้นจะคุ้มค่าเงินหรือไม่ก็อยู่ที่ตัวคุณเองจะเป็นผู้ตัดสิน แต่ถ้าถามถึงกล้อง APS-C ที่ประสิทธิภาพดีที่สุดรอบด้าน ณ เวลานี้ Canon EOS 7D Mark II ย่อมเป็นคำตอบครับ.

ปิยะฉัตร แกหลง [Nextopia]

PhotoNextor XT eMagazine

มิถุนายน 2558

ดูภาพผลงานจากผมเพิ่มเติมของกล้องรุ่นนี้ได้ที่นี่ครับ > http://xtemag.com/wb/index.php?topic=221.0

หากคุณสนใจเรื่องราวการถ่ายภาพและเทคนิคจากผมก็มาดูกันได้ที่นี่ > https://www.facebook.com/NextopiaXT

และที่นี่ครับ > https://www.facebook.com/nextopia.photonextor

 

ขอบคุณ Canon Marketing (Thailand) สำหรับเลนส์ที่ใช้ร่วมในการทดสอบ

 

 

 

Comments

comments

You may also like...