สัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว

 

ถ้าพูดถึงงานใหญ่ประจำปีแห่งเมืองผืนป่าตะวันตกของเมืองไทย ก็ต้องยกให้งานอลังการ แสง สี เสียง และระเบิดตูมตามเหนือสายน้ำบนสะพานเหล็กแกร่งอายุยืนแห่งนี้เลย

Main

ในขณะที่เขียนบทความนี้ (1 .. 2557) เมืองกาญจนบุรีก็อยู่ในช่วงของ สัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว 2557″ ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานใหญ่ประจำปีของเมืองแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งฟากตะวันตกสยามประเทศแห่งนี้

ผมมีประสบการณ์ในการไปเก็บภาพที่นี่อยู่สามครั้งครับ แต่ละครั้งก็ต่างกรรมต่างวาระกันไป ครั้นจะปล่อยให้ประสบการณ์หลังกล้องในงานนี้ตายไปพร้อมตัวเองก็เสียดายเปล่า เอาเรื่องราวของงานนี้มาเขียนเล่าสู่กันฟังจะดีกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับในช่วงวันหยุดครับ ผู้คนจะเยอะแยะมากมายหลากหลายยิ่งนักเชียว เพราะนอกจากจะมีงานออกร้านกาชาดในบริเวณใกล้เคียงกันแล้ว หัวใจของงานก็จะอยู่ที่การแสดง แสง สี เสียง ในบริเวณสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำที่เรามักจะไปเดินจีบสาวข้ามไปข้ามมากันนั่นแหละ ตามท้องเรื่องก็จะกล่าวถึงประวัติสมัยสงครามโลกครั้งที่สองโดยจะมีการเกณฑ์แรงงานเชลยสงครามมาสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะนี้ ซึ่งว่ากันว่าจำนวนศพของเชลยระหว่างการสร้างในครั้งนั้นไล่เรี่ยกันกับจำนวนไม้หมอนทางรถไฟเลยทีเดียว

ทหารญี่ปุ่นต้องการเชื่อมไปหาพม่าโดยทางรถไฟจึงต้องมาสร้างสะพานนี้ ฝรั่งก็ตามมาบอมบ์ทิ้งเท่านั้นละครับ ไม่ปล่อยให้พ่อโกโบริได้เอาไว้ใช้ข้ามไปซื้อยาหม่องแน่ๆ

ไฮไลท์เด็ดก็จะอยู่ตรงจุดพีคสุดของเรื่องเมื่อมีการ บอมบ์ระเบิดสะพานทิ้งโดยฝ่ายตรงข้าม ช่วงนี้นี่แหละครับที่นักถ่ายภาพมากมายมุ่งหน้าไปเก็บภาพกันมาเป็นประสบการณ์ เพราะเค้าจะใช้พลุอันยิ่งใหญ่ตระการตาในการสื่อความหมายของการระเบิดสะพานนั่นเอง

อันที่จริงแล้วมันจะมีจุดที่เราสามารถกางขาตั้งกล้องได้หลายจุด โดยเฉพาะตรงแถวๆ ตีนสะพานทั้งสองฝั่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูด้วยเพราะในแต่ละปีก็จะมีพื้นที่จัดงานไม่เหมือนกัน คุณควรจะเดินทางไปถึงก่อนเวลาสักห้า-หก ชั่วโมงเพื่อสำรวจทำเลเหมาะหมายตาเอาไว้

ไม่ต้องกลัวอดอยากเพราะแถวนั้นมีสรรพเสบียงมากมายทั้งแบบข้างถนนและร้านอาหารเป็นเรื่องเป็นราว เล็งจุดได้แล้วจะไปนั่งละเลียดรอเวลาก็ยังได้

หรือคุณจะตีตั๋วเข้าไปนั่งอัฒจรรย์ชมการแสดงเลยก็ยังได้ แต่มุมมองก็อาจจะจำกัดหน่อย และมันก็อาจจะสะเทือนไปสะเทือนมา ไม่เหมาะต่อการถ่ายภาพโดยใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำสักเท่าไหร่

เมื่อปีที่ผมไปก็ลงทุนซื้อตั๋วเข้าไปสำรวจอัฒจรรย์เลยครับ ซึ่งก็พบว่าไม่ใช่มุมที่หมายปองสำหรับถ่ายภาพ แต่ถ้าเป็นการนั่งชมด้วยสายตาละก็มันย่อมจะเหมาะแน่ๆ ก็เลยสละบัตรนั้นเอาไปแจกให้คนอื่นแทนฟรีๆ ไปเลย แต่อย่าได้คิดเหมือนผมนะครับ แต่ละปีสถานที่ก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งมันอาจจะไม่เหมือนกับที่ผมได้ไปเห็นมาก็เป็นได้ หรือไม่มันก็อาจจะเป็นมุมที่ดีที่สุดสำหรับถ่ายภาพในปีที่คุณไปก็เป็นได้

ถ้าเป็นไปได้ก็ขึ้นไปเดินสำรวจบนสะพานเอาไว้สักหน่อยครับ มองดูว่าเค้าวางพลุเอาไว้ที่ส่วนไหนของสะพาน (ซึ่งโดยมากแล้วก็จะค่อนไปทางฝั่งตรงข้าม) ดูร่องรอยของการจุดพลุที่ผ่านมาก็ได้ หรือไม่ก็ถามทีมงานที่อาจจะนั่งๆ เดินๆ อยู่แถวนั้นก็ได้ แล้วจดจำตำแหน่งนั้นเอาไว้ให้ดีเพราะมันจะเป็นจุดพีคสำหรับมุมภาพถ่ายของเรา

เมื่อแดดร่มลมตกก็ควรจะเข้าสู่จุดหมายที่ตั้งได้แล้วครับ เพราะในชั่วเวลาอีกไม่นานหรอกก็จะมีนักท่องเที่ยวอีกมากมายดาษดื่นเข้ามาจับจองพื้นที่นั่งชมเหมือนกัน ซึ่งบรรดาตากล้องก็ไม่ใช่น้อยอีกแหละ

สำรวจมุมซ้าย-ขวาเข้าไว้ครับว่าเราจะสามารถเปลี่ยนมุมเพื่อรับองศาไหนได้บ้าง การแสดงปลีกย่อยในแต่ละปีจะไม่ตายตัว มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้นก็เผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ซะหน่อย

อย่างน้อยมุมภาพของคุณควรจะต้องครอบคลุมสะพานทั้งเส้นเอาไว้ได้ครับ ดังนั้นเลือกมองหาทำเลดีๆ เลนส์ซูมมุมกว้างจะสะดวกและได้เปรียบอยู่บ้าง หากมีกล้องอีกตัวจะติดระยะเทเลเอาไว้เจาะจุดสำคัญก็ได้ตามสะดวก

และจำเอาไว้ว่าเมื่อถึงเวลาจริงอาจจะมีผู้ชมอื่นๆ มาขวางหน้ากล้องคุณได้เสมอ ดังนั้นถ้าอยู่ชิดขอบด้านหน้าอะไรสักอย่างได้เพื่อป้องกันปัญหาที่ว่าก็เหมาะควรแก่การพิจารณา อย่าคิดว่ามันจะว่างๆ โล่งๆ เหมือนเมื่อตอนกลางวันครับ

เมื่ออาทิตย์ลับฟ้าก็อาจจะมีการทดสอบระบบแสงสีเสียงอีกนิดหน่อย คุณก็สามารถทดลองถ่ายภาพได้บ้างครับ ซึ่งก็นับว่าสวยงามใช้ได้อยู่เหมือนกัน

 3

ถึงเวลาจริง การแสดงก็จะเริ่มดำเนินไปตามท้องเรื่อง มีเสียงดังตูมตามเปรี้ยงปร้างตามสไตล์สงครามอยู่บ้าง ก็ถ่ายภาพกันไปโดยคุมสติให้ดี อย่าไปตกใจกับเสียงเอฟเฟกต์เหล่านั้นจนกดผิดกดถูก

และเมื่อได้ยินเสียงหวูดของหัวรถจักรไอน้ำแผดก้องกังวานยะเยือกมาในสายลม ตรงนี้แหละคือสัญญาณว่าเตรียมตัวเอาไว้ให้ดี เพราะขบวนรถไฟโบราณของจริงจะวิ่งอย่างเชื่องช้ามาจากสถานีเพื่อเข้าฉากไฮไลท์ และถ้าสามารถคุณก็มีจังหวะให้ถ่ายภาพในขณะที่รถกำลังข้ามสะพานได้ การใช้สปีดชัตเตอร์ช้าก็น่าสนใจเพราะจะทำให้ภาพรถไฟของเราดูมีการเคลื่อนไหวได้อารมณ์

2

เสียงบรรยายน่าจะพูดถึงการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งก็คือฉากนี้แหละครับที่จะเริ่มมีการระเบิดสะพานกันอย่างมโหฬาร เช็คมุมกล้องของคุณให้ดีว่ามันลงตัวกับตำแหน่งจุดพลุหรือไม่ เท่าที่ผมประสบก็จะมีการใส่กันอย่างเต็มที่เมื่อขบวนรถไฟไปถึงนั่นแหละ จับสายลั่นเอาไว้ให้ดี พยายามยืนกันขาตั้งกล้องของคุณเอาไว้ มีโอกาสที่ผู้คนแถวนั้นจะมาโดนขาตั้งกล้องของคุณได้

เพราะถึงจะสวยงามตื่นตาแต่มันจะมีเสียงระเบิดที่ดังมากครับ ซึ่งก็ทำให้สะดุ้งตกอกตกใจกันโดยถ้วนหน้า

5

ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งตีนสะพาน สิ่งหนึ่งที่ผมจะต้องบอกให้รู้ล่วงหน้าก็คือ พลุไฮไลท์นั้นจะมีความสูงมาก ซึ่งน่าจะเกินสามสิบเมตรเห็นจะได้ เท่าที่เคยถ่ายภาพนั้นเลนส์มุมกว้างระยะ 16-17mm สำหรับกล้อง Full Frame จะเก็บไม่หมดหากจะเอาสะท้อนผิวน้ำด้วย ถ้าจะเก็บให้หมดก็ต้องเงยกล้องตามขึ้นไป แต่จำนวนพลุลูกใหญ่นี้จะมีน้อยมาก กว่าคุณจะปรับมุมสำเร็จมันก็ยิงไปหมดแล้ว ดังนั้นคิดเผื่อเรื่องนี้ด้วยครับว่าจะเอายังไงแน่ หรือถ้าคุณมีเลนส์มุมกว้างกว่านี้ก็จัดเตรียมมาเลย ที่เหลือก็แสดงฝีมือกันเอาเอง

อย่าลืมทดสอบถ่ายภาพดูค่าการเปิดรับแสงเสียก่อนที่จะถึงเวลาจริง ผมเขียนเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพพลุเอาไว้ที่นี่แล้วครับ กดตามลิ้งค์ไปศึกษากันได้

 

4

เป็นอีกงานที่ผมแนะนำให้ลองไปหาประสบการณ์ในการถ่ายภาพกันดูครับ จะถือโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปเลยก็ดี หรือจะค้างสักคืนหรือจะกลับเลยหลังงานเลิกก็ตามใจ ในบริเวณแถวสะพานข้ามแม่น้ำแควมีลานจอดรถขนาดใหญ่เดินใกล้นิดเดียว ค่าจอดรถไม่แพงเท่าไหร่ จอดกันสบายๆ (ถ้าคุณมาก่อนเวลาดังว่า) แต่ถ้ามาใกล้เวลาก็แย่เลยเพราะรถจะติดและหาที่จอดลำบากสักนิดนึง อาหารการกินเพียบพร้อม สนุกสนานกันได้ตามสมควร ห้องน้ำห้องท่ามีที่ตีนสะพาน เตรียมเหรียญติดตัวเอาไว้จ่ายค่าบำรุงสักหน่อย

ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดกำหนดการได้เยอะแยะมากมาย แค่พิมพ์ สัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว แล้วตามด้วยปี พ.. ที่ท่านอ่านมาเจอบทความนี้ใน Google ได้เลย

วันธรรมดารอบเดียว วันหยุดสองรอบ ดังนั้นในวันหยุดก็จะมีโอกาสได้แก้มือในรอบหลัง ใช้รอบแรกสำหรับซ้อมมือซ้อมจังหวะ แต่ผู้คนก็จะเยอะแยะแย่งกันกินแย่งกันใช้ดังที่บอก

…ลองเลือกดูครับ.

ปิยะฉัตร แกหลง

1 .. 2557

 

Comments

comments

You may also like...